คณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนพัฒนาสุขภาพจิตแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2561-2580) ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566-2570) ให้คนทุกช่วงวัยมีปัญญา อารมณ์ดี มีความสุข และอยู่ในสังคมอย่างทรงคุณค่า พร้อมพิจารณาแนวทางการดูแลเรื่องความรุนแรง (Violence) ทั้งต่อตนเอง ต่อผู้อื่นและต่อสังคม โดยให้คณะอนุกรรมการระดับจังหวัดจัดทำแผนให้ครอบคลุมและเหมาะสมกับบริบทในพื้นที่

          วันนี้ (31 สิงหาคม 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบหมายจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2565 และให้สัมภาษณ์ว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 มีการผลักดันให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการประสานงานเพื่อบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยสุขภาพจิตระดับจังหวัดครบทั้ง
76 จังหวัด ดำเนินงาน 6 ประเด็น ได้แก่ 1.สร้างเสริมความเข้มแข็งทางใจ 2.ลดอัตราการฆ่าตัวตาย 3.ดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (
SMI-V) 4.ดูแลประชาชนกลุ่มเสี่ยงจากสถานการณ์โควิด 19 5.ดูแลผู้ป่วย Long COVID-19 และ 6.ติดตามและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวชเนื่องจากสารเสพติด ถือเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ภาคส่วนต่างๆ บูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตของทุกกลุ่มวัยในชุมชน นอกจากนี้ ยังมีความก้าวหน้าเรื่องการดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตแก่กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ในสถานศึกษาและมหาวิทยาลัย รวมถึงสร้างมาตรฐานการให้บริการด้านจิตวิทยาการปรึกษาด้วย

         ดร.สาธิต กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณา (ร่าง) แผนพัฒนาสุขภาพจิตแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2561-2580) ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566-2570) ที่กำหนดวิสัยทัศน์ว่า “คนทุกช่วงวัยมีปัญญา อารมณ์ดี มีความสุข และอยู่ในสังคมอย่างทรงคุณค่า” มีเป้าหมาย 7 ประเด็น ได้แก่ 1.เด็กมีความฉลาดทางสติปัญญา (IQ) 2.เด็กมีความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) 3.ครอบครัวมีความเข้มแข็งและอบอุ่น 4.คนไทยมีสุขภาพจิตดี 5.ลดอัตราการฆ่าตัวตาย 6.จังหวัดมีการบูรณาการงานสุขภาพจิตตามมาตรฐาน และ 7.ประเทศไทยมีคะแนนความสุข (World Happiness Index) เพิ่มขึ้น โดยให้ฝ่ายเลขานุการปรับปรุงตามข้อเสนอในที่ประชุม และเสนอแผนต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป นอกจากนี้ ได้พิจารณาแนวทางการดูแลความรุนแรงทั้งต่อตนเอง ต่อผู้อื่นและต่อสังคม โดยจัดระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวช (Severe Mental Illness with Violence : SMI-V) ตั้งแต่การคัดกรองผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง, การส่งต่อผู้ป่วย เพิ่มการเข้าถึงบริการด้วยความช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ร่วมกับสายด่วน 1669 และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น, การดูแลรักษาโดยทีมสหวิชาชีพในโรงพยาบาล และฟื้นฟูด้วยระบบ case management โดยชุมชน ซึ่งที่ประชุมได้มอบให้คณะอนุกรรมการระดับจังหวัดจัดทำแผนให้ครอบคลุมและเหมาะสมกับบริบทในพื้นที่ และนำเสนอความก้าวหน้าในการประชุมครั้งต่อไป

 

********************************** 31 สิงหาคม 2565

**************************************



   
   


View 2560    31/08/2565   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ