ปลัด สธ. ติดตามการดูแลรักษา “พระ-ผู้แสวงบุญ” ในดินแดนพุทธภูมิ จัดส่งทีมแพทย์ 6 รุ่น รวม 60 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 15 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมติดตามการซ้อมแผนบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการ สามารถรับมือและบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินสาธารณภัยทุกประเภท ทุกขนาด ตลอดจนดูแลรักษาส่งต่อได้อย่างถูกต้อง ช่วยผู้ประสบเหตุพ้นอันตราย ลดการพิการและการเสียชีวิต
วันนี้ (1 กันยายน 2565) ที่หาดแม่รำพึง จ.ระยอง ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย เรืออากาศเอก นายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ นาวาเอก นาวี กุลอารีมิตร ผู้อำนวยการกองยุทธการ กองทัพเรือภาคที่ 1 นายชานุ เตชธัญญานนท์ หัวหน้าอุทยานเขาแหลมหญ้า หมู่เกาะเสม็ด ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ติดตามการซ้อมแผนบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินบรรเทาสาธารณภัย เหตุการณ์จำลองเรือบรรทุกน้ำมันชนเรือนักท่องเที่ยว โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดระยอง องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง และภาคเอกชน เข้าร่วม
ดร.สาธิตกล่าวว่า จังหวัดระยองเป็นหนึ่งในจังหวัดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคะวันออก (EEC) ที่มีนักลงทุนเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งการพัฒนาระบบบัญชาการเหตุการณ์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน (ICS) ที่เป็นระบบการสั่งการ ควบคุม และประสานความร่วมมือของแต่ละหน่วยงาน ในการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินสาธารณภัยทุกประเภท ทุกขนาด ตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่รุนแรง เช่น เหตุการณ์เพลิงไหม้ ภัยธรรมชาติ สารเคมี เป็นต้น ถือเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้น และเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องความพร้อมด้านการสาธารณสุขและการบริการภาครัฐ ทำให้เกิดการลงทุนสร้างรายได้ตามมา โดยการฝึกซ้อมแผนฯ ครั้งนี้ มีการรวบรวมสรรพกำลังจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน จัดตั้งศูนย์ EOC แบบบูรณาการทุกภาคส่วน ทำให้การแก้ไขปัญหามีความชัดเจนและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ปลอดภัยทั้งผู้ปฏิบัติงานและผู้ที่ประสบเหตุสาธารณภัย และยังสามารถบริหารจัดการภาวะภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ช่วยปกป้องชีวิต ทรัพย์สินและสิ่งแวดล้อม ลดการบาดเจ็บ การพิการและการเสียชีวิตได้มาก
ดร.สาธิตกล่าวต่อว่า ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ได้ใช้องค์ความรู้ด้านการแพทย์ฉุกเฉินในการช่วยบรรเทาสาธารณภัย อาทิ การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ซึ่งการฝึกซ้อมครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลระยอง โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ระยอง จัดทีม Mini MERT ร่วมคัดกรองผู้ประสบเหตุให้ได้รับการรักษาตามระดับอาการ สามารถออกปฏิบัติหน้าที่ได้ภายใน 30 นาทีที่ได้รับการร้องขอ, การประสานงานร่วมกับศูนย์พิษวิทยาและชีวเคมี อนามัยสิ่งแวดล้อม, การส่งต่อรักษา เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลให้บุคลากรเกิดความชำนาญ สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อเกิดสถานการณ์จริง
************************************** 1 กันยายน 2565
********************************************