ปลัด สธ. ติดตามการดูแลรักษา “พระ-ผู้แสวงบุญ” ในดินแดนพุทธภูมิ จัดส่งทีมแพทย์ 6 รุ่น รวม 60 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 16 View
- อ่านต่อ
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบโล่และเกียรติบัตรเชิดชูเกียรติแก่คณะผู้เชี่ยวชาญอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่สนับสนุนการเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีน ช่วยสร้างความเชื่อมั่นด้านประสิทธิภาพ ความปลอดภัยของวัคซีน และจัดการเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อย่างเหมาะสม ทำให้ไทยบรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนแก่ประชากรแล้วกว่า 142 ล้านเข็ม
วันนี้ (7 กันยายน 2565) ที่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานมอบโล่และเกียรติบัตรเชิดชูเกียรติ แก่คณะผู้เชี่ยวชาญอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค (AEFI) จากวัคซีนโควิด 19 โดยมี นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ร่วมงาน
นายอนุทิน กล่าวว่า ประเทศไทยได้รณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด 19 แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศ เพื่อป้องกันการระบาดและลดความรุนแรงของโรค โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้แต่งตั้งอาจารย์แพทย์และผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขา เป็นคณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งระดับส่วนกลางและเขต เพื่อสนับสนุนและขับเคลื่อนการดำเนินงานการเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับการฉีดวัคซีน โดยข้อมูลถึงวันที่ 5 กันยายน 2565 ประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิด 19 ไปแล้วทั้งสิ้น 142,891,943 โดส มีรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรง 7,597 เหตุการณ์ มีการประชุมเพื่อพิจารณาเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ 97 ครั้ง พบว่ากว่าร้อยละ 60 เป็นเหตุการณ์ร่วมที่ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน และประมาณร้อยละ 0.8 เป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับวัคซีน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการแพ้ที่ไม่รุนแรง
เพื่อเป็นการขอบคุณและเชิดชูเกียรติ กระทรวงสาธารณสุข จึงได้มอบโล่และเกียรติบัตรแก่คณะผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัย และคณะทำงานฯ จากทั่วประเทศ ได้แก่ เขตบริการสุขภาพที่ 1 – 12 สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 – 12 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาล ทีมเลขานุการระดับส่วนกลางและเขต รวมถึงผู้มีส่วนร่วม รวม 505 คน ที่ร่วมติดตามข้อมูล พิจารณาและให้ข้อเสนอแนะแก่ผู้ป่วยจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีน และจัดการเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อย่างถูกต้องเหมาะสมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยสามารถบรรลุผลเป้าหมายการฉีดวัคซีน ได้กว่าร้อยละ 80 ของประชากร ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการเข้ารับการฉีดวัคซีนว่ามีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัย ช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 ให้กับประชาชนได้จำนวนมาก ทั้งนี้คณะผู้เชี่ยวชาญ ยังคงทำงานกันต่อไปเพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจต่อการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในประเทศไทย
********************************* 7 กันยายน 2565