รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 75 สนับสนุนข้อเสนอรายงานประจำปีในการปรับระบบสุขภาพเน้นระดับปฐมภูมิ และป้องกันเตรียมพร้อมสำหรับโรคระบาดและสาธารณสุขฉุกเฉินในอนาคต หวังร่างสนธิสัญญาโรคระบาดจะผ่านเห็นชอบการประชุมสมัชชาอนามัยโลกปี 2567 พร้อมหารือทวิภาคีมัลดีฟส์ความร่วมมือด้านสาธารณสุข 5 สาขา

          ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวระหว่างการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 75 (75th WHO Regional Committee for South-East Asia) ที่ เมืองพาโร ราชอาณาจักรภูฏาน ระหว่างวันที่ 5-9 กันยายน 2565 ว่า ในส่วนของการประชุมเมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา มีการนำเสนอรายงานประจำปีของผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปี 2564 ซึ่งเน้นเรื่องการปรับปรุงระบบสุขภาพอย่างครบวงจร สู่การ “สร้างใหม่ให้ดีกว่าเดิม” (Build back better) ภายหลังการระบาดของโรคโควิด 19 สงบลง มีวัตถุประสงค์ 2 ข้อ คือ เพื่อความปลอดภัย และสุขภาพที่ดีขึ้นในอนาคต เน้นการปรับระบบสุขภาพ ระบบสุขภาพปฐมภูมิ และเตรียมพร้อมสำหรับโรคระบาดและสาธารณสุขฉุกเฉินในอนาคต โดยความท้ายขององค์การอนามัยโลก คือ การคาดการณ์และตอบสนองต่อภัยคุกคามโดยเน้นที่การแก้ปัญหาปัจจัยด้านสังคม และเศรษฐกิจ แบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

          ดร.สาธิตกล่าวว่า ในการประชุมตนได้กล่าวถ้อยแถลงแสดงความคิดเห็นต่อรายงานประจำปีดังกล่าวโดยชื่นชมองค์การอนามัยโลกที่สนับสนุนประเทศสมาชิกในการตอบสนองต่อโรคโควิด 19 อย่างทันท่วงที และได้สนับสนุนข้อแนะนำทั้ง 2 ข้อในรายงาน คือ 1.การปรับระบบสุขภาพให้มุ่งเน้นการบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ ซึ่งเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง เป็นรากฐานสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งงานสุขภาพปฐมภูมิจะช่วยสนับสนุนการตรวจจับ ป้องกัน และตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขทั้งระดับเล็กและระดับใหญ่ และ 2.การป้องกันและการเตรียมความพร้อมสำหรับโรคระบาดและสาธารณสุขฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งโควิด 19 ทำให้ทั่วโลกเรียกร้องให้มีสนธิสัญญาโรคระบาด ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำ ซึ่งขอบคุณที่สนับสนุนประเทศไทยให้เป็นตัวแทนภูมิภาคเข้าไปร่วมร่างสนธิสัญญา โดยหวังว่าจะได้รับการเห็นชอบในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกในปี 2567

           “โรคโควิด 19 ทำให้เกิดวิกฤตซ้ำซ้อน 2 เรื่อง คือ วิกฤตสุขภาพ และวิกฤตเศรษฐกิจ หากต้องการยุติโรคระบาดต้องร่วมมือกันฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้ครอบคลุม 70% ของประชากรภายในปี 2565 ซึ่ง 4 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บรรลุเป้าหมายแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ไทยยังให้ความสำคัญต่องบประมาณด้านสุขภาพ สร้างความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพ เสริมสร้างศักยภาพการเตรียมความพร้อมงานด้านสาธารณสุขและบริการระดับปฐมภูมิโดยเฉพาะเขตเมือง โดยเชื่อว่าผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะสนับสนุนประเทศสมาชิกในภูมิภาค ขับเคลื่อนเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพในการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การอนามัยโลกครั้งที่ 152 การประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 76 และ การประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติในปี 2566” ดร.สาธิตกล่าว

          ดร.สาธิตกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีการหารือทวิภาคีร่วมกับนาย Ahmed Naseem รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสาธารณัฐมัลดีฟส์ ในประเด็นความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างไทยและมัลดีฟส์ ซึ่งประเทศไทยยินดีที่จะทำตามการหารือร่างความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างรัฐบาลมัลดีฟส์และไทย ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี 2559 ใน 5 สาขา คือ สร้างเสริมศักยภาพการกำกับดูแลของ อย.มัลดีฟส์ , ความร่วมมือด้านวิชาการสำหรับบุคลากรสาธารณสุข , การวิจัยนโยบายและระบบสาธารณสุข , การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการเยือน และให้การสนับสนุนด้านวิชาการสำหรับการเงินที่ยั่งยืนสำหรับการส่งเสริมสุขภาพ หากมัลดีฟส์จะขยายความร่วมมือ กระทรวงสาธารณสุขไทยยินดีหารือในรายละเอียดและกำหนดระยะเวลาเพื่อการลงนามความร่วมมือต่อไป นอกจากนี้ ไทยยังขอให้มัลดีฟส์ช่วยสนับสนุนการเสนอระเบียบวาระเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การอนามัยโลก ครั้งที่ 152

          สำหรับการประชุมคณะกรรมการองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สมัยที่ 75 มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยประเทศสมาชิกทุกประเทศ ยกเว้นเมียนมา และหน่วยงานที่เป็น Non Government Agencies ถือเป็นการประชุมครั้งแรกที่เจอกันแบบต่อหน้า หลังจากการประชุมเมื่อครั้งที่ 72

กันยายน /10-11 *********************************



   
   


View 2473    07/09/2565   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ