สาธารณสุขเผยคนไทย 21 ล้านคน ขณะนี้กำลังเผชิญปัญหาพุงหลาม เพราะออกกำลังกายน้อย โดยวัยทำงาน พนักงานออฟฟิศ ข้าราชการ ออกกำลังกายเพียงร้อยละ 40 ในกลุ่มอายุ 25-29 ปี มีน้อยที่สุดเพียงร้อยละ 10 จับมือกระทรวงศึกษาธิการ จัดกิจกรรม “ขยับกาย ก่อนเข้าเรียน” ให้เด็กนักเรียนออกกำลังกายหลังเคารพธงชาติทุกวัน หวังเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่จะมีหุ่นดี สูงสง่า ดีเดย์ 27 ส.ค. นี้ พร้อมกันทั่วประเทศ กว่า 10 ล้านคน เที่ยงวันนี้ (21 สิงหาคม 2551) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และนายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าว ความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับกระทรวงศึกษาธิการ ในการจัดกิจกรรมออกกำลังกายหน้าเสาธง “Youth Exercise ขยับกาย ก่อนเข้าเรียน” เพื่อปลูกฝังพฤติกรรมให้คนไทยรักการออกกำลังกายเป็นนิจ ตั้งแต่ยังเป็นเด็กนักเรียน เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรงในอนาคต นายวิชาญ กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายส่งเสริมให้คนไทยสุขภาพแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ โดยประกาศใช้ กลยุทธ์ 3 ส 3 อ ลดปัจจัยเสี่ยงทำลายสุขภาพ ได้แก่ ลดพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ ลดการสูบบุหรี่ ลดการดื่มสุรา ยาเสพติด ลดอุบัติเหตุทางจราจร เพิ่มการบริโภคอาหารที่ปลอดภัย และส่งเสริมให้ประชาชนออกกำลังกาย เพื่อให้สุขภาพแข็งแรง จะเริ่มต้นอย่างจริงจังในกลุ่มเด็กนักเรียนและเยาวชน โดยร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง ผ่านทางโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งสามารถพัฒนาได้กว่าร้อยละ 95 ของโรงเรียน ตั้งแต่ระดับประถมถึงมัธยมศึกษาทุกสังกัดที่มีกว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ เพื่อดูแลสุขภาพอนามัยเด็ก ปลูกฝังการออกกำลังกาย ดูแลความสะอาดของอาหารและส้วม ควบคุมป้องกันยาเสพติด เป็นต้น ปัญหาที่น่าห่วงพบว่า คนไทยวัยทำงานและผู้สูงอายุขณะนี้มีสุขภาพไม่ดีมากขึ้น แนวโน้มเป็นไปตามอายุ โดยพบประชาชนประมาณร้อยละ 16 หรือ 10 ล้านกว่าคน มีโรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัว พบในผู้หญิงมากกว่าชาย ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดการดูแลสุขภาพตั้งแต่ยังอยู่ในวัยเด็กหรือวัยหนุ่มสาว จึงต้องเร่งปลูกฝังพฤติกรรมให้เด็กไทยรักการออกกำลังกาย โดยจัดทำโครงการ “Youth Exercise ขยับกาย ก่อนเข้าเรียน” ให้นักเรียนออกกำลังกายหน้าเสาธง หลังเคารพธงชาติทุกวัน ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้แนะนำว่า ในคนทั่วไปการออกกำลังกายให้มีเหงื่อซึม อย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน มีผลให้หัวใจ-ปอดทำงานดีขึ้น จะช่วยลดความเสี่ยงโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน และมะเร็งได้ ส่วนในเด็กควรออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมงทุกวัน จะทำให้กล้ามเนื้อกระดูก ข้อต่อแข็งแรง หัวใจทำงานดีขึ้น ควบคุมน้ำหนักตัว จะลดความเสี่ยงไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่ ยาเสพติด รวมแก้ปัญหาติดเกมได้ด้วย มุ่งหวังว่าคนไทยรุ่นใหม่ต่อจากนี้ไป จะเป็นผู้รักการออกกำลังกาย รูปร่างดี สูงสง่าผ่าเผย ไม่อ้วน นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรมอนามัยได้สำรวจสถานการณ์การเคลื่อนไหวออกแรง/ออกกำลังกายคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่มีประมาณ 48.2 ล้านคน ระหว่าง 20 ตุลาคม 2550-30 มกราคม 2551 ในกลุ่มตัวอย่าง 23,510 คนทั่วประเทศ พบว่า มีเส้นรอบเอวเกินเกณฑ์มากถึงร้อยละ 43 หรือประมาณ 21 ล้านคน เข้าข่ายพุงหลาม โดยในกลุ่มวัยทำงาน พนักงานในสถานประกอบการ ข้าราชการในหน่วยราชการ องค์กรต่างๆ ออกกำลังกายในระดับที่เพียงพอคือไม่ทำให้ไขมันสะสม ร้อยละ 40 เท่านั้น หรือประมาณ 13 ล้านคน ที่เหลือประมาณ 35 ล้านคน ไม่ออกกำลังกายเลยหรือออกกำลังกายน้อยมาก โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 25-29 ปี ออกกำลังกายเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น สำหรับสถิติการออกกำลังกายและเล่นกีฬาต่อวันของเด็กและเยาวชน พบว่า 3 ใน 4 ออกกำลังกาย แต่ออกกำลังกายหน้าเสาธงหลังเคารพธงชาติทุกวันเพียงร้อยละ 20 ออกกำลังกายหน้าห้องเรียนหรือภายในอาคารร้อยละ 42 และออกกำลังกายในโรงยิม ใต้ร่มไม้ ที่ว่าง ลานวัด ดาดฟ้าอาคาร ร้อยละ 38 วิธีการออกกำลังกาย ร้อยละ 60 เป็นการเต้นประกอบเพลง แม่ไม้มวยไทยร้อยละ 20 ที่เหลือรำไม้พลอง ขยับกายสบายชีวีวิถีพุทธ ทางด้านนายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การจัดกิจกรรมออกกำลังกายหน้าเสาธงหลังเคารพธงชาติ จะเปิดตัวโครงการพร้อมกันทั่วประเทศ ในวันที่ 27 สิงหาคม 2551 ตั้งแต่เวลา 07.00-08.30 น. นักเรียนในโรงเรียนทั่วประเทศกว่า 10 ล้านคน จะออกกำลังกายพร้อมกันๆ หน้าเสาธง ในกรุงเทพจะถ่ายทอดสดที่โรงเรียนสตรีวิทยา 2 ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท. โดยให้ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 10 นาที และบันทึกผลการออกกำลังกายทุกวัน จากนั้นจะประเมินผลสมรรถภาพนักเรียน โดยการทดสอบสมรรถภาพทางกาย ดูความแข็งแรง ความยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ การทำงานหัวใจและปอด เช่น ให้นั่งงอตัว นอนยกตัว ดันพื้นและเดินวิ่ง 1.6 กิโลเมตร ทุก 6 เดือน ในเดือนกุมภาพันธ์และสิงหาคมทุกปี นำผลมาเปรียบเทียบกัน ดูทิศทางการเปลี่ยนแปลง หากพบนักเรียนออกกำลังกายน้อยกว่าร้อยละ 80 หรือมีสมรรถภาพทางกายต่ำกว่าระดับปานกลาง ทางโรงเรียนต้องจัดกิจกรรมเสริมพิเศษให้นักเรียน ****************** 21 สิงหาคม 2551


   
   


View 6    21/08/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ