รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมงาน “Healthcare Trade Mission to Southeast Asia” พร้อมหารือร่วมกับผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สหรัฐฯ ด้านตลาดโลก ถึงแนวทางส่งเสริมความร่วมมือด้านสุขภาพและการแพทย์กับไทย เพื่อเดินหน้าสู่ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ เผยไทยมีความพร้อมในการพัฒนาธุรกิจด้านการดูแลและส่งเสริมสุขภาพ ทั้งสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐานสากล และบุคลากรที่มีคุณภาพและมีจิตใจบริการฉันท์ญาติมิตรซึ่งเป็นจุดเด่นของบุคลากรไทย

          วันนี้ (19 กันยายน 2565) ที่โรงแรมไฮแอท รีเจนซี กรุงเทพ สุขุมวิท นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมงาน “Healthcare Trade Mission to Southeast Asia” พร้อมหารือร่วมกับ นายอรุณ เวนกะตะระมัน (Mr. Arun Venkataraman) ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา ด้านตลาดโลก ถึงนโยบายด้านสาธารณสุขของประเทศไทย และแนวทางการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ทั้งด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของโลก ด้านผลิตภัณฑ์ของไทย และด้านวิชาการทางการแพทย์

          นายอนุทินกล่าวว่า ได้มีการพูดคุยกันเกี่ยวกับนโยบายด้านสาธารณสุขของประเทศไทย ภายใต้นโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ซึ่งในสาขาสุขภาพและการแพทย์ มุ่งเน้นการพัฒนาการสร้างนวัตกรรมยา วัคซีน ยาชีววัตถุ อุปกรณ์ทางการแพทย์ การวิจัยทางคลินิกและการบริหารจัดการข้อมูลวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อรองรับการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ ลดการนำเข้า ให้ความสำคัญกับนโยบายป้องกันปัญหาสุขภาพมากกว่าการรักษา ขยายไปสู่การให้บริการทางการแพทย์เฉพาะบุคคล (Precision Medicine) ด้วยการใช้ประโยชน์จากข้อมูลพันธุกรรม การสร้างแพลตฟอร์มการวิจัยทางคลินิกของประเทศ รวมถึงการเดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ซึ่งไทยมีความพร้อมในการจัดบริการด้านการรักษาพยาบาลและการส่งเสริมสุขภาพรองรับชาวต่างชาติ ทั้งด้านสถานบริการ ที่มีสถานพยาบาลเอกชนทั้งใน กทม.และจังหวัดท่องเที่ยว ได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานระดับสากล คือ JCI (Joint Commission International) จำนวน 60 แห่ง และ GHA (Global Healthcare Accreditation) จำนวน 17 แห่ง มีสถานพยาบาลภาครัฐได้รับการรับรองมาตรฐาน HA จากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) อีกกว่า 700 แห่งทั่วประเทศ และยังมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ มีจิตบริการสูง

          นายอนุทินกล่าวต่อว่า ได้ใช้โอกาสนี้ ย้ำถึงแนวทางการดำเนินนโยบายด้านสุขภาพของประเทศไทย ที่มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพปฐมภูมิ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ขยายครอบคลุมไปถึงโรคที่หายาก การพัฒนานวัตกรรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พัฒนาอุตสาหกรรมกัญชาทางการแพทย์ และส่งเสริมสุขภาพและการบริการด้านสุขภาพที่ผลิตในท้องถิ่นและมีคุณภาพสูง เช่น นวดแผนไทยและสปาบำบัดในอุตสาหกรรมสุขภาพ เพื่อมุ่งเป็นศูนย์กลางสุขภาพของโลกในปีต่อๆ ไป นอกจากนี้ ไทยมีบริการด้านการแพทย์ที่มีศักยภาพสูงอื่นๆ เช่น Dental Hub ในจังหวัดภูเก็ต โรคหัวใจ โรคกระดูกและข้อ โรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง โรคมะเร็ง ภาวะการมีบุตรยาก เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (IVF) ศัลยกรรมตกแต่ง และโรคทางสมองและประสาทวิทยา เป็นต้น โดยไทยมีการยกเว้นวีซ่าในการเดินทางเข้าประเทศเพื่อรักษาพยาบาล 90 วัน ซึ่งอยู่ระหว่างการเพิ่มเติมกลุ่มประเทศเป้าหมาย ได้แก่ ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา และมีการขยายระยะเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทยสำหรับกลุ่มพำนักระยะยาว (Long Stay Visa) 10 ปี การตรวจลงตราเพื่อการรักษาพยาบาล ระยะเวลา 1 ปี

          สำหรับสาขาสุขภาพและการแพทย์ที่สหรัฐอเมริกาสามารถช่วยสนับสนุนได้ ได้แก่ การร่วมลงทุน พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ตลอดทั้งห่วงโซ่ ตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา จนถึงออกสู่ตลาด ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยา ชีววัตถุ วัคซีน อาหารทางการแพทย์ เครื่องมือแพทย์ และวัสดุทางการแพทย์ การส่งเสริมด้านการแพทย์จีโนมิกส์และผลิตภัณฑ์การแพทย์ชั้นสูง และการพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญส่งเสริมนวัตกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์

 ******************************************  19 กันยายน 2565



   
   


View 775    19/09/2565   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ