รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมมอบนโยบายการดำเนินงานกระทรวงสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2566 เชื่อมั่นข้าราชการ สธ.เดินหน้าทำงานต่อเนื่องแม้เป็นปีสุดท้ายของรัฐบาล มอบ 5 นโยบายสำคัญช่วยพัฒนาระบบสาธารณสุขระยะยาว เน้นเข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้นผ่านการดูแลสุขภาพปฐมภูมิที่บ้านและชุมชน เสริมสร้างการดูแลสุขภาพ ดูแลผู้สูงอายุอย่างทั่วถึง นำสมุนไพรผลิตภัณฑ์สุขภาพสร้างเศรษฐกิจ และพัฒนาข้อมูลสุขภาพดิจิทัลเพื่อประชาชน

        วันนี้ (29 กันยายน 2565) ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กทม. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุม
มอบนโยบายการดำเนินงานกระทรวงสาธารณสุข ประจำปีงบประมาณ 2566 พร้อมปาฐกถาพิเศษ “สุขภาพดี เศรษฐกิจมั่งคั่ง (
Health for Wealth) และร่วมกับ ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ทำพิธี Kick off พลิกโฉมระบบสุขภาพเพื่อคนไทยทั้งประเทศ

         นายอนุทินกล่าวว่า การประชุมมอบนโยบายครั้งนี้เป็นปีสุดท้ายของรัฐบาล ซึ่งคนมักจะพูดกันว่าข้าราชการจะเกียร์ว่าง แต่มั่นใจว่าจะไม่เกิดขึ้นกับข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข เพราะทุกคนทำงานร่วมกันมาจนเป็นทีมประเทศไทย ทั้งนี้ ได้ส่งต่อข้อคิดให้ได้ใช้ประโยชน์ในระยะยาวเรื่อง “Health for Wealth” ซึ่งสอดคล้องกับคำโบราณที่ว่า “ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ” โดยนำมาเป็นธงนำชีวิตและทิศทางการบริหารบ้านเมือง รวมถึงบทเรียนจากวิกฤตโควิด 19 เกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เรียนรู้ว่าในวิกฤตการณ์ทางสาธารณสุข “ความรู้” เป็นสิ่งที่มีค่าที่จะช่วยปกป้องประชาชนจากการสร้างความปั่นป่วนในสังคม, การเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่รวดเร็วช่วยทำให้สถานการณ์ผ่อนหนักเป็นเบา, การดูแลกันและกันในชุมชนช่วยขจัดโรคภัยและรักษาสายสัมพันธ์ในสังคมยามที่ต้องเว้นระยะห่าง และแม้เราจะเป็นผู้แข็งแรงก็ไม่อาจละเลยกลุ่มเปราะบาง แม้จะเป็นประเทศที่ “มี” ก็ไม่อาจหลงลืมประเทศที่ “ขาด” เพราะไม่มีใครปลอดภัย จนกว่าทุกคนจะปลอดภัย

       นายอนุทินกล่าวต่อว่า บทเรียนเหล่านี้ได้ถูกสังเคราะห์เป็นแนวทางและนโยบายการดำเนินงานในกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้เป้าหมาย “ประชาชนแข็งแรง เศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง ประเทศไทยแข็งแรง” โดยในปี 2566 จะผลักดันการพัฒนาสาธารณสุขไทย ด้วยการปรับระบบบริการสุขภาพโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ผ่านการขับเคลื่อน 5 ประการสําคัญ คือ ประการแรก การทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้มากขึ้น โดยเพิ่มความครอบคลุมการดูแลสุขภาพปฐมภูมิ ด้วยแนวทาง “3 หมอ” คนไทยทุกครอบครัวมีหมอประจําตัวดูแล เมื่อเจ็บป่วยได้รับการรักษาและส่งต่อ เพิ่มสวัสดิการและพัฒนาศักยภาพ อสม.ให้เป็นหมอประจําบ้าน เชื่อมโยงบริการแบบไร้รอยต่อตั้งแต่ปฐมภูมิ ทุติยภูมิและตติยภูมิ ดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ใช้การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ดูแลประชาชนที่บ้านและชุมชน ลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางมาโรงพยาบาล ประการที่ 2 ยกระดับการเสริมสร้างสุขภาพเพื่อคนไทยแข็งแรง โดยพัฒนาการสื่อสารเรื่องการดูแลสุขภาพให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย ถูกต้อง ปลอดภัย ทันสมัย มีกิจกรรมและมาตรการสิทธิประโยชน์สร้างแรงจูงใจเพื่อให้ประชาชนดูแลตนเองให้แข็งแรงทั้งกายและใจ ป้องกันการบิดเบือนหรือสร้างความเข้าใจผิด ซึ่งจะส่งผลเสียต่อความมั่นคงทางสาธารณสุข

         ประการที่ 3 ผู้สูงอายุต้องได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบและทั่วถึง โดยจัดให้มีการคัดกรองสุขภาพ ประเมินความเสี่ยงของโรค การป้องกันปัญหาสุขภาพ การดูแลระยะยาว สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต เช่น แว่นสายตา ผ้าอ้อม ฟันปลอม และจัดตั้งคลินิกผู้สูงอายุในโรงพยาบาลทุกระดับให้เข้าถึงบริการได้สะดวกยิ่งขึ้น รวมถึงดูแลด้านจิตใจและภาวะสมองเสื่อม ประการที่ 4 นำสุขภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยส่งเสริมผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพ สมุนไพรไทย กัญชา กัญชง ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ขยายโอกาสสู่การเป็นศูนย์กลางการบริการสุขภาพ (Health Hub) และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประชาคมโลก ต่อยอดเศรษฐกิจเพิ่มรายได้แก่ประชาชนและประเทศ และประการที่ 5 ข้อมูลสุขภาพต้องเป็นของประชาชนและเพื่อประชาชน โดยจะพัฒนาข้อมูลดิจิทัลสุขภาพที่ได้มาตรฐาน เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล เชื่อมโยงเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศ ช่วยให้ประชาชนใช้บริการสาธารณสุขได้ทุกที่อย่างต่อเนื่อง และรัฐใช้ประโยชน์ในการพัฒนาระบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

          “ไม่เพียงแต่ 5 นโยบายสำคัญนี้เท่านั้น แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมาสอนให้รู้ว่า เราต้องมีความตื่นตัว ยืดหยุ่น และคิดนอกกรอบเสมอ เพราะการสาธารณสุขยุคปัจจุบันจะประสบความท้าทายใหม่ๆ ต้องอาศัยวิธีคิดใหม่ๆ ในการรับมือ เหมือนที่เราได้ทำมาจนประสบความสำเร็จ ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ และจะทำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขไทยดำรงสถานะผู้นำการพัฒนาสาธารณสุขในภูมิภาคและในโลกต่อไป” นายอนุทินกล่าว 

           นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า การรับมือวิกฤตโควิด 19 เป็นภารกิจท้าทายที่ได้ร่วมคิด ร่วมทำ กับพี่น้องชาวสาธารณสุขจนรวมกันเป็นหนึ่ง พิสูจน์ให้ทั่วโลกเห็นถึงผลการดำเนินงานว่า 1.เราติดอันดับ 1 ประเทศที่ฟื้นตัวและรับมือกับโควิด 19 ได้ดีที่สุด จาก 184 ประเทศทั่วโลก จากข้อมูลดัชนีโควิดระดับโลก (Global COVID-19 Index : GCI) ในปี 2020 2.เราเป็นอันดับ 4 ประเทศที่รับมือการแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้ดีที่สุดในโลก ตามการจัดอันดับดัชนีการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ของประเทศและเขตเศรษฐกิจต่างๆ รวม
98 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจในปี 2021 3.เราเป็นอันดับ 5 ประเทศที่มีความมั่นคงทางสุขภาพสูงตามการจัดอันดับดัชนีความมั่นคงทางสุขภาพ (
Global Health Security Index: GHS) ในปี 2021 และ 4.เราเป็นอันดับ 8 ประเทศ
ที่มีระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุด โดยการจัดอันดับของ
Numbeo Survey ในปี 2021 จึงขอให้ทุกคนร่วมแรงร่วมใจพัฒนางานสาธารณสุขไทยด้วยความรัก ความสามัคคี ความผูกพัน ความเป็นพี่เป็นน้อง เพราะเราคือครอบครัวเดียวกัน ทุกคนมีบทบาทสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งในการ “Change สาธารณสุขไทย” สู่การยกระดับบริการและการดูแลสุขภาพด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นระบบสาธารณสุขที่เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

****************************************** 29 กันยายน 2565

 



   
   


View 1131    29/09/2565   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ