ปลัด สธ. ติดตามการดูแลรักษา “พระ-ผู้แสวงบุญ” ในดินแดนพุทธภูมิ จัดส่งทีมแพทย์ 6 รุ่น รวม 60 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 15 View
- อ่านต่อ
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กำชับพื้นที่ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดและให้การดูแลช่วยเหลือผู้ประสบภัยตลอด 24 ชั่วโมง แนะประชาชนดูแลสุขภาพ รักษาความสะอาด และป้องกันอุบัติเหตุจากไฟดูด เหยียบของมีคม และสัตว์มีพิษกัดต่อย
วันนี้ (30 กันยายน 2565) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากสถานการณ์พายุ “โนรู” ทำให้มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบให้พื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร อุบลราชธานี ขอนแก่น ชัยภูมิ มุกดาหาร สระบุรี ชัยนาท สระแก้ว มีสถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบ 23 แห่ง เปิดให้บริการตามปกติ 19 แห่ง และมีรพ.สต. 3 แห่ง และ รพ. 1 แห่ง ที่เปิดให้บริการได้บางส่วน เบื้องต้นได้ส่งทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์ 135 ทีม ดูแลประชาชนและผู้ประสบภัยแล้ว 9,559 ราย ประกอบด้วย เยี่ยมบ้าน 748 ราย แจกยาชุดน้ำท่วม 2,616 ราย ตรวจรักษา 4,579 ราย ให้สุขศึกษา 1,614 ราย ประเมินสุขภาพจิต 306 ราย และส่งต่อรักษา 2 ราย โดยอาการป่วยที่พบมากสุด คือ น้ำกัดเท้า 2,468 ราย โรคทางเดินหายใจ 456 ราย กล้ามเนื้อและกระดูกจากการยกของหนัก 403 ราย และโรคผิวหนัง แพ้ ผื่นคัน 361 ราย เป็นต้น ส่วนการประเมินสุขภาพจิตพบมีภาวะเครียด 4 ราย ได้ให้การดูแลแล้ว
นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า สำหรับโรคที่มักพบบ่อยช่วงน้ำท่วม เช่น ไข้หวัด ตาแดง โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ โรคฉี่หนู น้ำกัดเท้า เป็นต้น ขอแนะนำให้ประชาชนดูแลร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อป่วยมีอาการทางเดินหายใจ กินร้อน ล้างมือบ่อย ๆ ควรสวมรองเท้าบู๊ท ล้างทำความสะอาดมือเท้าด้วยสบู่และเช็ดให้แห้งทุกครั้งหลังลุยน้ำ หากมีบาดแผลควรใช้แอลกอฮอล์เช็ดและทายาฆ่าเชื้อ หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน หากน้ำหรือสิ่งสกปรกเข้าตาให้รีบล้างด้วยน้ำสะอาดทันที นอกจากนี้ ต้องระมัดระวังและป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ ไฟดูด จมน้ำ เหยียบของมีคม และสัตว์มีพิษกัดต่อย เป็นต้น
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยง ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดและให้การดูแลช่วยเหลือผู้ประสบภัยตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุในพื้นที่ ให้ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องและไม่ขาดยา และจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการดูแลประชาชนที่ประสบภัยจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
****************************************** 30 กันยายน 2565