ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย หน่วยบริการในสังกัดที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 49 แห่ง ยังให้บริการได้ตามปกติ กำชับให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ ใช้แผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ปรับการให้บริการนอกพื้นที่ เพื่อไม่ให้กระทบการให้บริการประชาชน และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบูรณการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ออกให้บริการดูแลสุขภาพประชาชนเชิงรุก

          วันนี้ (3 ตุลาคม 2565) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยจากพายุโนรู ว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 21 จังหวัด สถานบริการสาธารณสุขที่ได้รับผลกระทบสะสม 49 แห่ง ประกอบด้วย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 1 แห่ง โรงพยาบาล 6 แห่ง สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ 2 แห่ง และรพ.สต. 40 แห่ง โดยเปิดให้บริการได้ตามปกติ 41 แห่ง และเปิดให้บริการบางส่วน 8 แห่ง ได้แก่ รพ.สต.วัดตะกู รพ.สต.บางหลวงโดด รพ.สต.บางหัก จ.พระนครศรีอยุธยา, รพ.สต.สำโรงทาน จ.สุรินทร์, รพ.สต.หนองกินเพล รพ.สต.ทัพไทย รพ.สต.สร้างแก้ว จ.อุบลราชธานี และ รพ.สต.เหล่ายาว จ.ลำพูน

          นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า สถานพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงได้กำชับให้จัดหาสถานที่สำรองหรือจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อจัดบริการทางการแพทย์ให้กับประชาชนได้ต่อเนื่อง และใช้แผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยยึดหลักป้องกัน ยกสูง เคลื่อนย้าย มีการวางระบบป้องกันน้ำเข้าท่วมสถานพยาบาล ขนย้ายยาเวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ไว้ในที่สูงและปลอดภัยเพื่อป้องกันความเสียหาย และจัดเตรียมทรัพยากรที่จำเป็นให้เพียงพอต่อการให้บริการ พร้อมทั้งมอบหมายให้ นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ติดตามสถานการณ์และสั่งการช่วยเหลือ โดยมีกองสาธารณสุขฉุกเฉินเป็นผู้ประสานงาน

          โดยสถานพยาบาลที่ได้รับผลกระทบมีการปรับการให้บริการประชาชน เช่น โรงพยาบาลชัยภูมิ มีน้ำท่วมรอบนอกโรงพยาบาลสูงประมาณ 30 ซม. และค่อยๆ ลดระดับ ส่วนด้านในมีการกั้นน้ำและทำสะพานทางเดินเข้า พร้อมจัดรถรับส่งผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ไว้ 4 จุด 4 มุมเมือง โดยใช้รถของโรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และได้รับการสนับสนุนรถจาก ทหาร อบจ. เทศบาล ส่วนที่พักบุคลากรที่ได้รับผลกระทบ ได้เปิดห้องพิเศษในโรงพยาบาลให้พัก โดยยังคงเปิดให้บริการประชาชนได้ตามปกติ ทั้งงานผ่าตัด อุบัติเหตุ ผู้ป่วยหนัก การส่งต่อรักษา มีการสำรองออกซิเจน ยา โลหิต เวชภัณฑ์อื่นๆ ไว้อย่างเพียงพอ นอกจากนี้ ยังตั้งหน่วยแพทย์ใน 3 มุมเมือง โดยใช้สถานที่ของห้างสรรพสินค้าโรบินสัน สถานีบริการน้ำมัน และเทศบาล เพื่อให้บริการผู้ป่วยกลุ่มโรคทั่วไปและผู้ป่วยนอก รวมถึงมีสายด่วนให้คำปรึกษาประชาชนทั้งโรคทั่วไปและความเครียด ตลอด 24 ชั่วโมง

          โรงพยาบาลดงเจริญ จ.พิจิตร น้ำเข้าท่วมพื้นที่โรงพยาบาล อาคารจอดรถ โรงปั่นไฟ สูงประมาณ 50 ซม. ได้กั้นกระสอบทรายเสริมเพื่อป้องกันน้ำท่วมอาคารโรงพยาบาล และเคลื่อนย้าย ยา เวชภัณฑ์ ไว้ในที่ปลอดภัยแล้ว พร้อมตั้งเต็นท์ให้บริการคัดกรองผู้ป่วยที่บริเวณหน้าโรงพยาบาล หากอาการน้อยจะแนะนำให้ไปรักษาต่อที่ รพ.สต. ใกล้บ้าน หากจำเป็นต้องพบแพทย์ X-ray จะมีรถรับส่งเข้าไปในโรงพยาบาล ส่วนผู้ป่วยฉุกเฉิน ที่ต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล ได้ประสานส่งต่อโรงพยาบาลบางมูลนาก จ.พิจิตร

          ส่วนจังหวัดอุบลราชธานี มี รพ.สต. ได้รับผลกระทบ 3 แห่ง ขณะนี้ได้เคลื่อนย้ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ไว้ในที่ที่ปลอดภัยแล้ว และได้ปรับไปให้บริการนอกพื้นที่เพื่อความสะดวกในการเดินทางของประชาชน ได้แก่ รพ.สต.ทัพไทย อ.เมือง ใช้พื้นที่ของสถานีบริการน้ำมัน รพ.สต.หนองกินเพล อ.วารินชำราบ ใช้พื้นที่ของที่ทำการองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และ รพ.สต.สร้างแก้ว อ.พิบูลมังสาหาร ใช้พื้นที่ของวัดในชุมชน นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลที่ต้องเฝ้าระวังอีก 2 แห่ง กำลังทำการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้แล้วเสร็จในวันนี้ โดยมีเจ้าหน้าที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 13 ครอบครัว ได้ช่วยเคลื่อนย้ายของขึ้นไปไว้ที่ชั้น 2 ของบ้านเรียบร้อยแล้ว 

           ทั้งนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้บูรณการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ออกให้บริการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ดูแลสุขภาพประชาชนเชิงรุก 81 ทีม มีผู้เข้ารับบริการรวม 13,411 ราย พร้อมให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพและป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วม เช่น ท้องร่วง น้ำกัดเท้า รวมทั้งส่งทีม MCATT 28 ทีม ลงไปพูดคุยเยียวยาจิตใจผู้รับผลกระทบรวม 1,366 ราย พบมีภาวะเครียด 4 ราย ได้ให้การดูแลแล้ว

  ****************************************** 3 ตุลาคม 2565

*********************************

 

 

 

 



   
   


View 664    03/10/2565   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ