สาธารณสุข เร่งพัฒนามัสยิดใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ให้เป็นมัสยิดส่งเสริมสุขภาพ สะอาด ปลอดภัย ตามหลักศาสนา นำร่อง 72 แห่งในปีนี้ ขณะนี้ผ่านเกณฑ์แล้วร้อยละ 80 ตั้งเป้าขยายผลปี 2552 ให้ได้ร้อยละ 50 ของมัสยิดทั้งหมดใน 3 จังหวัด พร้อมให้โรงพยาบาลทุกแห่งใน 3 จังหวัดใต้ ปรับกำลังคนให้สอดคล้องกับการเข้ารับบริการในช่วงเดือนแห่งการถือศีลอด ที่จะเริ่ม 1 กันยายน 2551 นี้ เนื่องจากอาจมีผู้เข้ารับบริการหลังเวลาราชการเพิ่มขึ้น แนะหลักการปฏิบัติตัวเพื่อสุขภาพดีระหว่างการถือศีลอด บ่ายวันนี้ (28 สิงหาคม 2551) ที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส จำนวน 500 คน พร้อมมอบประกาศนียบัตรให้มัสยิดที่เข้าร่วมโครงการมัสยิดส่งเสริมสุขภาพ มอบปฏิทินเดือนรอมฎอน 20,000 ชุดและผลไม้แห้งแก่ผู้แทนผู้นำศาสนา 3 จังหวัดชายแดนใต้ นายวิชาญกล่าวว่า มัสยิดเป็นศาสนสถานที่มีความสำคัญ เป็นศูนย์รวมจิตใจ จิตวิญญาณของประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งร้อยละ 98 นับถือศาสนาอิสลาม วิถีชีวิตส่วนใหญ่ปฏิบัติตามหลักศาสนา ในปี 2551นี้ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายพัฒนามัสยิดให้เป็นมัสยิดส่งเสริมสุขภาพ ให้ผู้นำศาสนาเป็นต้นแบบและแกนนำสร้างสุขภาพในชุมชน โดยใช้หลักการศาสนานำการสาธารณสุขเพื่อสุขภาพดีตามวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ผลสำรวจทั้ง 3 จังหวัดมีมัสยิดทั้งหมด 1,694 แห่ง โดยมอบให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร่วมกับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปีนี้เริ่มนำร่อง 72 แห่งประกอบด้วยปัตตานี 23 แห่ง ยะลา 21 แห่ง และนราธิวาส 28 แห่ง ในการพัฒนาดังกล่าว จะเน้นความสะอาดในอาคาร นอกอาคาร ห้องน้ำห้องส้วม การกำจัดขยะถูกหลักสุขาภิบาลไม่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนหรือทำความสกปรกแก่ผู้ปฎิบัติศาสนกิจ เพื่อให้ผู้ปฎิบัติศาสนกิจได้มีน้ำใช้ที่สะอาด จากการประเมินผลพบว่า ได้รับความร่วมมือจากผู้นำศาสนาเป็นอย่างดี ขณะนี้มีมัสยิดที่ร่วมโครงการและผ่านเกณฑ์มัสยิดส่งเสริมสุขภาพแล้วร้อยละ80 ในปี2552 จะขยายให้ได้ร้อยละ 50 ของมัสยิดทั้งหมดใน 3 จังหวัด นายวิชาญกล่าวต่อว่า ในช่วงเดือนรอมฎอนที่จะเริ่ม 1 กันยายน 2551 นี้ หรือที่เรียกว่าเดือนแห่งการถือศีลอดของชาวมุสลิม เพื่อทำความดีเป็นเวลา 30 วัน งดเว้นจากการบริโภค และควบคุมอารมณ์ในเวลากลางวัน ได้มอบนโยบายให้โรงพยาบาลทุกแห่งใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ปรับกำลังคนให้สอดคล้องกับการเข้ารับบริการในช่วงเดือนแห่งการถือศีลอด เนื่องจากอาจมีผู้เข้ารับบริการหลังเวลาราชการเพิ่มขึ้น ด้านนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า การถือศีลอด ในทางการแพทย์ เป็นผลดีต่อร่างกาย ได้พักการทำงานของอวัยวะต่างๆ และขับส่วนที่เกินออกจากร่างกาย เท่ากับว่าเป็นการชำระล้างพิษออกจากร่างกาย มีผลดีต่อกระเพาะอาหาร หัวใจและหลอดเลือด ในการถือศีลอดมีหลักปฏิบัติดังนี้ 1. กินอาหารมื้อดึกก่อนถึงเวลาถือศีล กินให้พอดี หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันมาก ขนมหวานและอาหารหนัก 2. หลีกเลี่ยงการนอนในขณะถือศีลอดและหลังละศีลอดใหม่ๆ เพราะจะเพิ่มความเฉื่อยชามากขึ้น 3.การละศีลอด หลังจากละหมาดแล้ว ควรเริ่มจิบน้ำสะอาดและกินอินทผาลัมเพื่อปรับสภาพร่างกาย จากนั้นจึงค่อยรับประทานอาหารหนัก เพื่อให้กระเพาะทำงานได้ตามปกติ และ 4. กินอาหารครบ 5หมู่ เพิ่มผักผลไม้ ช่วยให้การขับถ่ายปกติ ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางโรค เช่นความดันโลหิตสูง หัวใจ ตั้งครรภ์ ไม่เป็นข้อจำกัดในการถือศีลอด *** *************************** 28 สิงหาคม 2551


   
   


View 12    28/08/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ