กระทรวงสาธารณสุข ระดมทีมแพทย์ พยาบาลกู้ชีพ พร้อมรถพยาบาลฉุกเฉินจากโรงพยาบาลต่างๆทั้งในกทม.และข้างเคียง กว่า 60 ทีมรับมือผู้บาดเจ็บจากเหตุชุมนุมพันธมิตรเต็มที่ 24 ชั่วโมง ตลอดวันพบผู้ป่วยทั้งหมด 62ราย ส่วนเหตุแก๊สน้ำตาและระเบิดปิงปอง กระสุนยางที่หน้าบชน.พบคนเจ็บรวม 36 ราย ส่วนใหญ่รักษาแล้วกลับบ้านได้
นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการรับมือผู้เจ็บป่วยจากการชุมนุมของพันธมิตรว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการระดมทีมแพทย์กู้ชีพ พร้อมรถพยาบาลต่างๆ จากทม.และจังหวัดข้างเคียงจากนนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม ราชบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี สมุทรปราการ รวมกว่า 60 ทีม รวมทั้งจากมูลนิธิปอเต็กตึ๊ง และร่วมกตัญญู ประมาณ 12 คัน เพื่อให้ การดูแลผู้เจ็บป่วยอย่างเต็มที่ตลอด24 ชั่วโมง และได้สั่งการให้นายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ผู้อำนวยการสำนักบริการแพทย์ฉุกเฉินหรือศูนย์นเรนทร ไปอำนวยการ ประสานงานด้านการแพทย์ในพื้นที่ เพื่อให้งานเป็นไปคล่องตัว ประชาชนได้รับบริการที่รวดเร็ว ปลอดภัย โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาล
ด้านนายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตินิรามัย ผู้อำนวยการสำนักงานบริการการแพทย์ฉุกเฉิน กล่าวว่า จากการตรวจเยี่ยมจุดบริการการแพทย์ฉุกเฉินเมื่อเวลา 20.00 น.วันนี้ (29 สิงหาคม 2551) ได้จัดทีมกู้ชีพพร้อมรถพยาบาลจำนวน 8 จุดรอบๆที่ชุมนุม ได้แก่แยกเทวกรรม แยกสะพานชมัยมรุเชษฐ์ บริเวณตรงข้ามวัดเบญจมพิตร จุดลานพระบรมรูปทรงม้า สะพานมัฆวาน แยกพลรอ. ถนนศรีอยุธยา สี่แยกบชน. สนามม้านางเลิ้ง แต่ละจุดมีรถพยาบาลอย่างต่ำ 6 -8 คัน พร้อมเวชภัณฑ์ สามารถลำเลียงผู้ป่วยไปโรงพยาบาลต่างๆที่อยู่บริเวณรอบๆได้ภายใน10-15 นาที
สำหรับผู้เจ็บป่วยจากเหตุแก๊สน้ำตา ที่บริเวณหน้าบชน. เมื่อเวลา 21 .00 น. ยอดล่าสุด มีผู้ป่วย 36 ราย ในจำนวนนี้โดนแก๊สน้ำตา 32 ราย โดยส่งรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี 2 ราย วชิระพยาบาล30 ราย บาดเจ็บจากระเบิดลูกปิงปองที่แขน-ขาเล็กน้อย 3 ราย ส่งรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีทั้งหมด อีก1 ราย ถูกยิงด้วยกระสุนยางที่ขา บาดแผลเล็กน้อย ส่งรักษาที่โรงพยาบาลวิชระ ส่วนใหญ่กลับบ้านได้
สำหรับในช่วงเช้าถึงกลางวัน มีรายงานผู้บาดเจ็บเข้ารักษาในโรงพยาบาล 26 ราย ในจำนวนนี้แขนหัก 1 ราย อยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ 1 ราย รักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รวมผู้บาดเจ็บตลอดวันนี้มีทั้งหมด 62 ราย ส่วนใหญ่กลับบ้านได้ ขณะนี้ได้ประสานกับโรงพยาบาลในกทม.และรอบๆเขตปริมณฑล ให้สำรองเตียงผู้ป่วยไว้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้จุดชุมนุมที่สุด 2 แห่ง คือโรงพยาบาลรามาธิบดี และวชิระพยาบาล ซึ่งวันนี้มีผู้บาดเจ็บเข้ารับการรักษามากที่สุด
นายแพทย์สุรเชษฐ์กล่าวต่อว่า สำหรับการดูแลผู้ที่โดนแก็สน้ำตา ประชาชนควรปิดตาและใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำ ปิดที่ปากจมูก และตา เพื่อป้องกันการระคายเคือง หลีกเลี่ยงการสัมผัสเป็นเวลานานๆ เนื่องจากจะทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจถูกทำลาย หายใจไม่ออก ต้องได้รับการรักษาโดยด่วน โดยให้ออกซิเจน และน้ำเกลือทางหลอดเลือดเพื่อขับสารพิษออกจากร่างกาย ผู้ที่ต้องระมัดระวังอันตรายแก๊สน้ำตาเป็นพิเศษได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวทั้งโรคหัวใจ หอบหืด เด็กเล็ก
สิงหาคม7/8*************************** 29 สิงหาคม 2551
View 10
29/08/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ