สาธารณสุข เร่งพัฒนามาตรฐานการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร คัดกรองศาสตร์การแพทย์ทางเลือก สร้างความเชื่อมั่นประชาชน ในปีนี้มุ่งเน้นพัฒนายาสมุนไพรบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติเพิ่มอีก 100 รายการ ตั้งศูนย์สาธิตบริการแพทย์แผนไทยและผลิตภัณฑ์สมุนไพรของประเทศ ประชาสัมพันธ์นักท่องเที่ยวอย่างน้อย 20 แห่งทั่วประเทศ วันนี้ (1 กันยายน 2551) ที่โรงแรมสยามริเวอร์ จ.ชัยภูมิ นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการสัมมนาคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ที่ปรึกษา ผู้ชำนาญการ นักวิชาการ ผู้นำชุมชน และอสม.กว่า 1,000 คน เรื่อง “การพัฒนาแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกับสาธารณสุขไทย” จัดโดยคณะกรรมาธิการการสาธารณสุขฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบการแพทย์แผนไทย ซึ่งถูกทอดทิ้งมานานกว่า 80 ปี รวมทั้งพัฒนาการแพทย์ทางเลือกต่างๆ ซึ่งเป็นศาสตร์การดูแลสุขภาพแขนงใหม่ นำมาใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาการเจ็บป่วยของประชาชนไทยในปัจจุบัน นายวิชาญ กล่าวว่า ขณะนี้ได้มอบให้กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก เร่งพัฒนาระบบ การแพทย์แผนไทย รวมทั้งสมุนไพร ให้ได้มาตรฐานเป็นที่เชื่อมั่นของประชาชน เพื่อนำมาใช้ในการดูแลสุขภาพอย่างกว้างขวางควบคู่การแพทย์แผนปัจจุบัน ที่ผ่านมาการแพทย์สาขานี้มีความนิยมอยู่ในท้องถิ่นและชุมชนย่อยๆ เท่านั้น คนไทยส่วนใหญ่ยังพึ่งระบบบริการจากการแพทย์แผนปัจจุบัน และพึ่งยาสังเคราะห์นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งสัดส่วนการใช้ประมาณ 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายสุขภาพ การพัฒนาครั้งนี้ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ตั้งแต่พ.ศ. 2550-2554 ใช้งบ 2,364 ล้านบาท ประกอบด้วย 5 สาขา ได้แก่ การวิจัยพัฒนาด้านความรู้ การพัฒนาระบบริการ การพัฒนากำลังคนซึ่งไม่เพียงพอ ขณะนี้มีไม่ถึง 5,000 คน การพัฒนายาจากสมุนไพร และการคุ้มครองภูมิปัญญาไทย สำหรับในปีนี้ ได้เน้นเร่งดำเนินการ 10 กิจกรรม ได้แก่ 1. ให้สถานบริการสาธารณสุขของรัฐทุกแห่ง จัดบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 2. ให้สถานพยาบาลเพิ่มการใช้ยาสมุนไพรให้ได้ร้อยละ 5 ของมูลค่าเทียบกับยาแผนปัจจุบัน 3. เร่งพัฒนายาสมุนไพรเพื่อบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติให้ได้อย่างน้อย 100 รายการ ที่ผ่านมาบรรจุแล้ว 19 รายการ เช่น ไพล ขมิ้นชัน กำลังศึกษาเพชรสังฆาตรักษาโรคริดสีดวงทวารหนัก เถาวัลย์เปรียงแก้ปวดเมื่อย บัวบกรักษาแผลเบาหวาน 4. ตั้งสถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทยและโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยโดยเฉพาะอย่างน้อย 5 แห่ง 5. พัฒนาโรงงานผลิตยาสมุนไพรให้ได้มาตรฐานการผลิตจีเอ็มพีอย่างน้อย 100 แห่งทั่วประเทศ 6. ร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวฯ จัดตั้งศูนย์สาธิตบริการการแพทย์แผนไทยและผลิตภัณฑ์สมุนไพร สำหรับโชว์และประชาสัมพันธ์เผยแพร่สรรพคุณนักท่องเที่ยวอย่างน้อย 20 แห่งทั่วประเทศ 7. ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรฯ พัฒนาให้เกษตรกรปลูกและแปรรูปสมุนไพรที่มีคุณภาพมาตรฐานอย่างน้อย 30 ชนิดป้อนสู่การผลิตยาสมุนไพรทั่วประเทศ 8. ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ ตั้งตลาดกลางวัตถุดิบสมุนไพรอย่างน้อย 5 แห่งทั่วประเทศ 9. ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผลิตบุคลากรด้านการแพทย์แผนไทยสู่ท้องถิ่น “1 อำเภอ 1 แพทย์แผนไทย” และ 10. ยกร่างกฎหมายใหม่เช่น พ.ร.บ.ยาแผนไทย และยาทางเลือก นอกจากนี้ ยังมอบให้กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯคัดกรองการแพทย์ทางเลือก กำลังเป็นกระแสนิยมทั่วโลก เช่น ในสหรัฐอเมริกา ยุโรป ใช้การแพทย์สาขานี้มากถึงร้อยละ 50 ของประชากร ในไทยมักนิยมในผู้ที่มีฐานะปานกลาง ทั้งการรักษา ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งศาสตร์การแพทย์ทางเลือกมีจำนวนมาก ประเทศไทยยังขาดผู้รู้และนักวิชาการที่สนใจและเข้าใจอย่างถ่องแท้ จึงต้องจัดระบบการคัดกรอง ให้ได้ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายจริงๆ เพื่อให้รู้อย่างเท่าทัน ป้องกันการสูญเปล่าค่ารักษาของคนไทย ******************************************* 1 กันยายน 2551


   
   


View 13    01/09/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ