ปลัด สธ. ติดตามการดูแลรักษา “พระ-ผู้แสวงบุญ” ในดินแดนพุทธภูมิ จัดส่งทีมแพทย์ 6 รุ่น รวม 60 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 18 View
- อ่านต่อ
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผย ประเทศไทย ให้ความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก รับการประเมินสมรรถนะตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ IHR JEE ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 4 พฤศจิกายน 2565 ใช้เครื่องมือประเมินตัวใหม่พัฒนาจากบทเรียนโควิด 19 รวม 56 ตัวชี้วัดเป็นประเทศแรกของโลก
วันนี้ (1 พฤศจิกายน 2565) ที่ โรงแรม รอยัล ออร์คิด เชอราตัน กทม. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค ดร.ซามีรา อาสมา ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ องค์การอนามัยโลก ประจำสำนักงานใหญ่ นครเจนีวา และผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยเปิดการจัดประเมินการปฏิบัติตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ โดยผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก International Health Regulations Joint External Evaluation (IHR-JEE)
นายอนุทินกล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด 19 ช่วงที่ผ่านมา เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุด แต่ประเทศไทยสามารถควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับการประเมินโดยใช้เครื่องมือระดับสากลที่หลากหลาย เป็นประเทศแรกของโลกที่มีการดำเนินการ Intra Action Review (IAR) และเป็นประเทศที่ 3 ของโลก ที่ประสบผลสำเร็จในการทบทวนการเตรียมพร้อมกรณีภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า (UHPR) โดยองค์การอนามัยโลก เพื่อนำข้อเสนอแนะมาปรับใช้ในการปฏิบัติงานและเพิ่มขีดความสามารถรวมถึงเตรียมความพร้อมและรับมือกับโรคระบาดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
ขณะนี้พ้นการระบาดใหญ่แล้ว จึงเป็นเวลาที่เหมาะสมในการประเมินระบบสาธารณสุขของไทยภายใต้การปฏิบัติตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR) โดยในครั้งนี้ได้นำประสบการณ์ในการรับมือโรคโควิด 19 มาใช้ในการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกด้วย สำหรับการประเมิน IHR จะเกี่ยวข้องกับ 18 กระทรวง จากทั้งหมด 20 กระทรวง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้รับทราบถึงความสำคัญของการประเมินแล้ว และผลลัพธ์ที่ได้จากการประเมินครั้งนี้จะเป็นข้อมูลสำคัญในการพัฒนางานสาธารณสุขของไทยตามกฎอนามัยระหว่างประเทศต่อไป
ด้านนายแพทย์ธเรศกล่าวว่า ประเทศไทยได้ปฏิบัติตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ. 2548 (International Health Regulations: IHR 2005) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศ เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2550 โดยคณะรัฐมนตรีกำหนดให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ต้องมีการดำเนินการที่มีศักยภาพตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ และการเตรียมความพร้อมสำหรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข โดยประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างดีในการรับการประเมินสมรรนะ IHR JEE รอบแรก เมื่อวันที่ 26-30 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ส่วนการประเมินครั้งที่ 2 นี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 4 พฤศจิกายน 2565 จะใช้เครื่องมือประเมินสมรรถนะ IHR-JEE ฉบับที่ 3 ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้นำบทเรียนในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 มาปรับปรุง เพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพในการประเมินสมรรถนะการเตรียมความพร้อมของประเทศต่างๆ โดยมีประเด็นทางเทคนิคที่จะต้องประเมิน 19 ด้านเท่าเดิม แต่มีการแยก ยุบรวม หรือปรับแก้คุณลักษณะบางประการให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เช่น แยกประเด็นทางเทคนิคด้านเครื่องมือทางกฎหมาย และประเด็นทางเทคนิคการเงินออกจากกัน ยุบประเด็นทางเทคนิคด้านการรายงานไปไว้กับประเด็นทางเทคนิคด้านการประสานงานกฎอนามัยระหว่างประเทศ รวมประเด็นทางเทคนิคด้านการเตรียมพร้อมในกรณีฉุกเฉินและประเด็นทางเทคนิคด้านศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน เป็นประเด็นเทคนิคด้านการจัดการเหตุฉุกเฉินด้านสุขภาพ เป็นต้น โดยกำหนดตัวชี้วัดเพิ่มขึ้นจาก 49 เป็น 56 ตัวชี้วัด และทดลองใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้าช่วยประเมินในครั้งนี้เป็นครั้งแรกของโลกด้วย
“ปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับโควิด 19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือการทำงานร่วมกับองค์การอนามัยโลกและประเทศสมาชิก ตามข้อกำหนด IHR อย่างเข้มแข็งมาต่อเนื่อง ซึ่งการรับการประเมินครั้งนี้ มีผู้แทนกระทรวงต่างๆ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย องค์กรพัฒนาเอกชน และเครือข่ายเข้าร่วมให้ข้อมูลกับทีมผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลก” นายแพทย์ธเรศกล่าว
************************************** 1 พฤศจิกายน 2565