รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผย ผลการประเมินสมรรถนะหลักตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ หรือ IHR JEE ครั้งที่ 2 ของประเทศไทย ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 4 พฤศจิกายน 2565 โดยคณะผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก พบไทยมีผลงานการพัฒนาสมรรถนะหลักที่ดีขึ้นชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับ 5 ปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนของภาครัฐ และทุกภาคส่วนของสังคม

         วันนี้ (7 พฤศจิกายน 2565) ที่ กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยผลการประเมินสมรรถนะหลักตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ 2548 (IHR 2005) โดยคณะผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก ที่เรียกว่า International Health Regulations Joint External Evaluation (IHR-JEE) ซึ่งเป็นการประเมินสมรรถนะของประเทศไทยเป็นครั้งที่ 2 ในประเด็นทางเทคนิค 19 ด้าน จำนวน 56 ตัวชี้วัด โดยดร.สมิรา อัสมา (Dr. Samira Asma) ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ผู้นำคณะประเมิน ได้กล่าวชื่นชมการบริหารจัดการด้านสุขภาพระหว่างเกิดวิกฤติโควิด 19 ว่าเป็นการดำเนินงานที่โปร่งใส มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ มีประสิทธิภาพ และความรับผิดชอบ (Transparency, Visibility, Efficiency and Accountability) ซึ่งความสำเร็จของประเทศไทยครั้งนี้แสดงถึงความร่วมมือของทุกภาคส่วน และมีตัวอย่างที่โดดเด่นด้านการเฝ้าระวังคัดกรองโรค คือ การตรวจพบผู้ป่วยโควิด 19 รายแรกนอกประเทศต้นตอการระบาด นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและการสนับสนุนอย่างดีจากรัฐบาล ด้วยแนวคิด “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

         นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า คณะผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลกที่ประเมินสมรรถนะตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ จำนวน 26 คน ได้ให้ความเชื่อมั่นประเทศไทยด้วยคะแนนเฉลี่ย 4.25 จากคะแนนเต็ม 5 โดยใช้ตัวชี้วัด 56 ตัวของประเด็นทางเทคนิค 19 ด้าน แสดงให้เห็นว่าเรามีความก้าวหน้าในการพัฒนาสมรรถนะหลัก ตัวชี้วัดส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่มีผลงานประจักษ์และยั่งยืน ซึ่งเป็นผลจากการบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนของภาครัฐ และทุกภาคส่วนของสังคม (Whole-of-government and whole-of-society response) ในทุกระดับ ทำให้การพัฒนาสมรรถนะดีขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับการประเมินสมรรถนะตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2560 ที่ได้คะแนนเฉลี่ย 3.75 จาก 5 คะแนน โดยขณะนั้น
วัดจาก 48 ตัวชี้วัด

         สำหรับผลลัพธ์จากการประเมินสมรรถนะหลักครั้งนี้ จะเป็นข้อมูลสำคัญในการพัฒนางานสาธารณสุขของไทยตามกฎอนามัยระหว่างประเทศต่อไป โดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำข้อเสนอแนะมาวางแผนพัฒนาการปฏิบัติงาน และยกระดับขีดความสามารถในการเตรียมความพร้อมและรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข ทั้งโรคติดต่อ โรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน ความปลอดภัยด้านอาหาร เหตุการณ์ฉุกเฉินทางเคมีและรังสี ที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต 

************************* 7 พฤศจิกายน 2565

*************************



   
   


View 1857    07/11/2565   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ