ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เดินหน้าระบบสุขภาพดิจิทัล ช่วยเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพระหว่างโรงพยาบาลชี้ไม่เพิ่มภาระงานของบุคลากรเพราะแต่ละระบบมีความถี่ในการบันทึกข้อมูลไม่เท่ากัน ทั้งรายวัน/สัปดาห์/เดือน/3 เดือน และรายปี และยังยกเลิกระบบที่ไม่จำเป็นไปแล้ว 14 ระบบ โดยผลสำรวจหลังเปลี่ยนจากบันทึกแบบกระดาษเป็นดิจิทัล พบประชาชนพึงพอใจเพิ่มขึ้นทุกด้าน เตรียมจัดทำมาตรฐานข้อมูลตามระบบสากล เชื่อมโยงถึงกันได้และใช้ประโยชน์ในการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศ

          วันนี้ (11 พฤศจิกายน 2565) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการปรับระบบการบันทึกข้อมูลสุขภาพของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายขับเคลื่อนการดำเนินงานไปสู่ “ระบบสุขภาพดิจิทัล” ยกระดับหน่วยบริการเป็น Smart Hospital และ Smart รพ.สต. โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนางานบริการต่างๆ โดยเฉพาะการบันทึกข้อมูลสุขภาพ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพระหว่างโรงพยาบาล และมีการคืนข้อมูลสุขภาพกลับสู่ประชาชน ทำให้สามารถไปรับการรักษาที่ใดก็ได้ สอดคล้องกับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งในช่วงเปลี่ยนผ่าน การบันทึกข้อมูลผ่านระบบดิจิทัลอาจไม่ได้ราบรื่น 100% อย่างไรก็ตาม ได้ย้ำหลักการสำคัญคือ ต้องไม่ให้เป็นภาระของบุคลากรทางการแพทย์

          นพ.โอภาสกล่าวว่า สำหรับข้อกังวลเรื่องภาระงานในการลงบันทึกข้อมูลของ รพ.สต.นั้น ข้อเท็จจริงคือ แม้จะมีการบันทึกข้อมูลหลายระบบแต่จะมีความถี่ในการบันทึกแตกต่างกัน โดยข้อมูลที่ต้องบันทึกแบบรายวันมีเพียง 2 ระบบเท่านั้น คือ ระบบสารสนเทศโรงพยาบาล (การรักษารายวัน การดูแลหญิงตั้งครรภ์) และระบบการฉีดวัคซีน ส่วนการบันทึกสัปดาห์ละครั้งมี 1 ระบบ คือ ระบบเยี่ยมบ้าน ขณะที่การบันทึกเดือนละครั้ง หรือ 3 เดือนครั้งมี 10 ระบบ เช่น ระบบรายงานวัณโรค การติดตามโภชนาการเด็ก เป็นต้น ที่เหลืออีก 5 ระบบเป็นการบันทึกปีละครั้ง เช่น การตรวจสุขภาพเด็ก ป.1-6 การคัดกรองมะเร็งเต้านมในสตรีอายุ 30-70 ปี เป็นต้น และยังมีการยกเลิกระบบการบันทึกข้อมูลที่ไม่จำเป็นไปแล้วถึง 14 ระบบ

          นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า จากการประเมินความพึงพอใจของประชาชนในการรับบริการหลังปรับเป็น Smart รพ.สต. ที่เปลี่ยนการบันทึกข้อมูลจากกระดาษมาเป็นระบบดิจิทัล พบว่า มีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นในทุกด้านทั้งการดูแลต่อเนื่อง การเยี่ยมบ้าน การให้ความรู้ การนัดรับบริการ การบริการทุกเวลา การติดตามผลการรักษา และภาพลักษณ์ทันสมัย ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2566 จะมีการกำหนดรายการข้อมูลและจัดทำเป็นมาตรฐานข้อมูลตามระบบสากล เพื่อให้การพัฒนาระบบสารสนเทศของโรงพยาบาลในอนาคตมีความครบถ้วนสมบูรณ์ มีทิศทางเดียวกันและสามารถส่งข้อมูลถึงกันได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

********************************* 11 พฤศจิกายน 2565

 



   
   


View 755    11/11/2565   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ