ปลัด สธ. ติดตามการดูแลรักษา “พระ-ผู้แสวงบุญ” ในดินแดนพุทธภูมิ จัดส่งทีมแพทย์ 6 รุ่น รวม 60 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 16 View
- อ่านต่อ
ประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุข เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการบริหารของโครงการโรคเอดส์ แห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 51 เพื่อหารือภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนทิศทางและการบริหารจัดการแผนงานเอดส์ ของโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ เร่งขจัดการตีตราและการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ พร้อมมุ่งยุติปัญหาเอดส์ทั่วโลกภายในปี 2573
วันนี้ (13 ธันวาคม 2565) ที่โรงแรมแชงกรี-ลา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารของโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 51 (The 51st UNAIDS Programme Coordinating Board Meeting : PCB) โดยมี นายแพทย์โอกาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนจากประเทศสมาชิก 22 ประเทศ หน่วยงาน UN Cosponsors 11 องค์กร และ องค์กรเอกชนต่างประเทศ 5 องค์กร รวมประมาณ 220 คน เข้าร่วมการประชุม
นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานการประชุม และได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนี้นับเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพอีกครั้งในรอบ 14 ปี หลังจากที่เคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม เมื่อปี 2551 นายอนุทิน กล่าวต่อว่า การหารือร่วมกับภาคีเครือข่ายในครั้งนี้ มีประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.การดำเนินงานขององค์กรโดยชุมชนเป็นแกนนำ 2.ความคืบหน้าของการดำเนินงาน Global Partnership เพื่อขจัดการตีตราและการเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวีทุกรูปแบบ 3.ผลการประเมินการดำเนินงาน UNAIDS และ 4.เอชไอวีกับชายที่มีความหลากหลายทางเพศในทุกรูปแบบ นอกจากนี้ภายในงานได้จัดนิทรรศการแสดงผล การดำเนินงานแก้ไขปัญหาเอดส์ของประเทศไทย ในเรื่องการลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติ ที่ประเทศไทยเข้าร่วมโครงการสานพลังเพื่อขจัดการตีตราและเลือกปฏิบัติ (Partnership for Zero Discrimination) และเรื่องการจัดบริการด้านเอดส์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
นอกจากนี้ นายอนุทิน ยังได้กล่าวถึง สิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ประเทศไทยสนับสนุนให้กับประชาชนได้เข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม ซึ่งเป็นจุดเด่นของประเทศไทย ที่เราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราดูแลประชาชนทุกคนให้มีสุขภาพที่ดี ห่างไกลจากโรค และเข้าสู่ระบบบริการรักษาได้โดยเร็ว
มี 4 ประเด็นสำคัญ คือ 1) การให้บริการถุงยางอนามัยฟรีแก่คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปทุกเพศ ทุกสิทธิ์ สามารถรับได้ที่หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2) ส่งเสริมการจัดบริการเอชไอวีโดยชุมชน โดยเพิ่มองค์กรประชาสังคมที่ผ่านการประเมินตามมาตรฐานการจัดบริการเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่น ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 3) การให้บริการยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี แก่กลุ่มเป้าหมายหลัก (ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย หญิงข้ามเพศ ผู้ให้บริการทางเพศ ผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด คู่ผลเลือดต่าง) และยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีหลังการสัมผัสเชื้อ ครอบคลุมประชาชนไทยทุกคน ไม่จำกัดอายุ ไม่จำกัดจำนวนครั้งการให้บริการ โดยทั้งหมดไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น 4) การปรับเกณฑ์การเข้าถึงยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี (ยา Sofosbuvir/Velpatasvir) ให้ผู้ติดเชื้อได้รับการรักษาด้วยยาได้ทันที เมื่อถูกวินิจฉัยแล้ว และกำหนดให้มีการใช้ยาต้านไวรัสป้องกันการถ่ายทอดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี จากแม่สู่ลูก (ยาทีโนโฟเวียร์) รวมอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ และปรับให้มีการใช้ยาต้านไวรัส(ยา Tenofovir alafenamide) ที่มีประสิทธิผลดี เป็นยาสูตรแรกในการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังแทนยาสูตรเดิมที่ดื้อยาสูง ซึ่งจะสามารถลดการป่วย การตายจากโรคไวรัสตับอักเสบ และภาวะแทรกซ้อนจากตับแข็ง และมะเร็งตับได้ และขณะนี้กรมควบคุมโรคร่วมกับภาคีเครือข่ายกำลังดำเนินการขับเคลื่อนให้มีการตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ในผู้ที่เกิดก่อนปี พ.ศ. 2535 รวมอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ และกำลังขับเคลื่อนให้การใช้ชุดตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง รวมอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลที่ประชาชนสามารถเข้าถึงชุดตรวจโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี หรือซี ได้เข้าสู่การรักษาโดยเร็ว และเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
“ในฐานะประธานการประชุม ขอเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกขจัดการตีตราและการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ ในชุมชน โรงเรียน สถานที่ทำงานและสถานพยาบาลอย่างเร่งด่วน และผลักดันนโยบายการไม่เลือกปฏิบัติและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดบริการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้มีความครอบคลุมสำหรับทุกคน เข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ สอดคล้องกับแนวคิดวันเอดส์โลกปีนี้ที่ว่า “Equalize : ทำให้เท่าเทียม” เพื่อมุ่งไปสู่การยุติเอดส์ในปี 2573 นี้ พร้อมกัน” นายอนุทินกล่าว
*********************************** 13 ธันวาคม 2565