ปลัด สธ. ติดตามการดูแลรักษา “พระ-ผู้แสวงบุญ” ในดินแดนพุทธภูมิ จัดส่งทีมแพทย์ 6 รุ่น รวม 60 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 15 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดศูนย์ปฏิบัติการตรวจสอบการกระทำความผิดทางเทคโนโลยี เป็นศูนย์กลางรับเรื่องร้องเรียน เฝ้าระวัง สืบค้น และดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดที่ให้บริการสุขภาพและผลิตภัณฑ์สุขภาพไม่ได้มาตรฐาน คุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยและเป็นธรรม พร้อมนำระบบ API มาใช้เชื่อมโยงข้อมูลแลกเปลี่ยนกับภาคีเครือข่าย เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
วันนี้ (14 ธันวาคม 2565) ที่ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดศูนย์ปฏิบัติการตรวจสอบการกระทำความผิดทางเทคโนโลยี โดยมีนายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน
ดร.สาธิตกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายพัฒนายุทธศาสตร์และบริหารจัดการงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านระบบบริการสุขภาพ เพื่อจัดการและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบและได้รับความเสียหายจากการรับบริการสุขภาพและผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน โดยมอบหมายให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นหน่วยรับผิดชอบหลักในการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการตรวจสอบการกระทำความผิดทางเทคโนโลยี ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางรับเรื่องร้องเรียน แจ้งเบาะแส รวมถึงเฝ้าระวัง ตรวจสอบการกระทำผิดทางเทคโนโลยี สืบค้นผู้กระทำความผิดที่มีพฤติการณ์ฝ่าฝืนกฎหมาย และดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด พร้อมประสาน วิเคราะห์ และหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งทำการตรวจสอบการกระทำความผิดอย่างรวดเร็วทันต่อสถานการณ์ สามารถจัดการประเด็นปัญหาของผู้บริโภค (Pain Point) ได้ถูกต้อง ช่วยคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยและเป็นธรรม
ด้านนายแพทย์สุระ กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการตรวจสอบการกระทำความผิดทางเทคโนโลยี ตั้งอยู่ที่ชั้น 6 อาคารกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มีพนักงานเจ้าหน้าที่กองกฎหมาย เป็นผู้ดำเนินการสืบค้น ตรวจสอบการเผยแพร่ข้อมูลหรือโฆษณาของสถานพยาบาลและสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ หรือที่ได้รับเบาะแสจากภาคีเครือข่ายและประชาชนผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อเฝ้าระวังการกระทำผิดกฎหมายในลักษณะของการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือโอ้อวดเกินจริง ที่อาจจะส่งผลกระทบหรือความเสียหายต่อผู้บริโภค ซึ่งไม่เพียงจะมีการเรียกสถานพยาบาล หรือสถานประกอบการมาดำเนินคดี ในกรณีที่พบการกระทำผิด แต่จะมีการขยายผล ติดตามพฤติกรรม ตรวจสอบไปถึงผู้ที่คาดว่ามีความเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดในระบบออนไลน์อีกด้วย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาระบบ API (Application Programming Interface) มาใช้เชื่อมโยงกับซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชั่น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาคีเครือข่าย นอกจากนี้ จะมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กับหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย โดยมี คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นฝ่ายเลขานุการ นำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ตรวจจับสื่อโฆษณาที่ผิดกฎหมาย เพื่อเพิ่มความครอบคลุม และเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภค ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขต่อไป
สำหรับผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 มีการดำเนินคดีจับกุมและปราบปรามหมอเถื่อน สถานพยาบาลเถื่อน และคดีประเภทอื่น จำนวน 40 คดี และมีการสืบค้นผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียอันนำมาสู่การเปรียบเทียบปรับแล้ว จำนวน 164 คดี หากประชาชนพบการกระทำความผิดหรือมีเบาะแส สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1426 ในวันเวลาราชการ
*********************************** 14 ธันวาคม 2565