องค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หารือประเทศสมาชิกเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาสาธารณสุขแห่งชาติ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งการพัฒนาการพัฒนาสาธารณสุขของประเทศภาคีสมาชิกภูมิภาคนี้ เช้าวันนี้ (1 พฤศจิกายน 2549) ที่โรงแรมมณเฑียร สุริวงษ์ กรุงเทพมหานคร นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมการเตรียมจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาสาธารณสุขแห่งชาติ ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Horizontal Collaboration to Establish the National Task Force For Strengthening Public Health) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 3 พฤศจิกายน 2549 โดยมีผู้แทนจากองค์การอนามัยโลกและผู้แทนจาก 10 ประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ บังคลาเทศ ภูฎาน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี อินเดีย อินโดนีเชีย สาธารณรัฐมัลดีฟส์ สหภาพพม่า เนปาล ศรีลังกาและประเทศไทย จำนวน 37 คน เพื่อหารือแนวทางคณะกรรมการพัฒนาสาธารณสุขแห่งชาติ ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะทำให้แต่ละประเทศสมาชิกมีสมรรถนะในการพัฒนาสาธารณสุขของประเทศได้เป็นอย่างดี นายแพทย์มงคล กล่าวว่า จากการประเมินสถานะสุขภาพของประชากรโลกล่าสุด องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ขณะนี้ประชากรทั่วโลกในศตวรรษที่ 21 กำลังเผชิญกับโรคไม่ติดต่อรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญได้แก่ โรคอ้วน ซึ่งมาจากการขาดการออกกำลังกายและการรับประทานอาหารประเภทผักและผลไม้ลดน้อยลงมาก โดยมีผู้ใหญ่เป็นโรคอ้วนแล้วกว่า 300 ล้านคน และมีคนที่มีน้ำหนักมาก รูปร่างท้วมอีกประมาณ 1,000 ล้านคน ทำให้คนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจขาดเลือด และเส้นเลือดตีบ โรคเบาหวานเพิ่มขึ้น และความอ้วนยังเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ต่อมลูกหมาก มะเร็งกระเพาะอาหาร รวมทั้งยังทำเกิดโรคข้อกระดูกอักเสบในผู้ใหญ่ตามมา นอกจากนี้ ยังมีปัญหาของโรคติดต่อใหม่ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะโรคไข้หวัดนก ซึ่งล่าสุดพบว่ามีระบาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในประเทศอินโดนีเซีย พม่า ไทย รวม 97 ราย และเสียชีวิต 72 ราย ทั้งนี้ยังพบว่าในภูมิภาคนี้มีผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีรวม 6.7 ล้านคน รองลงมาจากทวีปแอฟริกา นายแพทย์มงคล กล่าวต่อไปว่า ดังนั้นองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงได้ทำการติดตามผลการดำเนินงาน หลังการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขครั้งที่ 23 เมื่อเดือนกันยายน 2548 เรื่องการพัฒนาบุคลากรทางด้านสาธารณสุข โดยได้ทำการหารือเพื่อเตรียมความพร้อมร่วมมือกันเพื่อหาแนวทางการพัฒนาสาธารณสุขเพื่อรองรับการเกิดโรคระบาดหรือโรคติดต่อที่สำคัญ คณะกรรมการดังกล่าวจะเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการรักษาพยาบาล การป้องกันโรค และการดูแลผู้ป่วย เพื่อพัฒนาศักยภาพองค์ความรู้ของบุคลากรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ประเทศต่างๆ สามารถจัดการปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ นายแพทย์มงคล กล่าวในที่สุด ....................................... 1 พฤศจิกายน 2549


   
   


View 20    01/11/2549   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ