กระทรวงสาธารณสุข แจ้งข่าวดีผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังทั่วประเทศ จะได้รับสิทธิ์บริการล้างไตทางช่องท้อง ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และผ่าตัดเปลี่ยนไต ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2551 เป็นต้นไป ผู้ป่วยรายใดที่มีปัญหาล้างไตผ่านช่องท้องไม่ได้ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ให้ฟอกเลือดได้ฟรี ผู้ป่วยไตวายสิทธิบัตรทองเดิมที่เคยฟอกเลือดด้วยเครื่องมาก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2551 หากไม่สามารถเปลี่ยนวิธีล้างทางช่องท้องได้ จะให้สิทธิจ่ายเพิ่มแค่ครั้งละไม่เกิน 500 บาท และสปสช. จะจ่ายชดเชยให้โรงพยาบาลครั้งละ 1,000 บาท
นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2551 เป็นต้นไป กระทรวงสาธารณจะเปิดให้บริการล้างไตทางช่องท้อง ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และผ่าตัดเปลี่ยนไตทดแทนไตที่เสียหน้าที่ไป ให้ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายทั่วประเทศที่อยู่ในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งคาดว่าขณะนี้มีอยู่แล้วประมาณ 18,000 ราย และมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละ 15,000 ราย ซึ่งการรักษาที่ได้ผลดีที่สุดของโรคไตวายเรื้อรังคือการผ่าตัดเปลี่ยนไต แต่ทำได้น้อยมากเพียงปีละประมาณ 300 ราย เนื่องจากมีผู้บริจาคน้อยมาก ที่เหลือจึงต้องฟอกเลือดเพื่อขับของเสียออกจากร่างกาย ยืดอายุผู้ป่วยและรอการผ่าตัดเปลี่ยนไตในที่สุด แต่ละปีมีผู้ป่วยใหม่ที่ต้องฟอกเลือด 6,792 ราย และล้างไตผ่านช่องท้องปีละ 388 ราย โดยใช้งบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)เป็นเงิน 1,530 ล้านบาทเศษ นับเป็นครั้งแรกในไทยที่ผู้ป่วยโรคนี้จะได้เข้าถึงบริการใกล้บ้าน
ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การจัดบริการผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิโรคไต สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรฐานบริการเดียวกันทั่วประเทศ ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดอบรมพยาบาลพร้อมให้บริการแล้ว ทั้งนี้ในปี 2550 กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับมูลนิธิโรคไต และสปสช. จัดทำโครงการผ่าตัดเปลี่ยนไตถวายเป็นพระราชกุศล 80 และ 84 พรรษา ให้แก่ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่มีฐานะยากจน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา วันที่ 5 ธันวาคม 2550 และในโอกาสที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา วันที่ 6 พฤษภาคม 2550 ดำเนินการในโรงพยาบาล 23 แห่งทั่วประเทศ เริ่มผ่าตัดเปลี่ยนไต ในวันที่ 1 มกราคม 2550 สิ้นสุดโครงการเมื่อ 31 พฤษภาคม 2551 มีผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนไตทั้งหมด 216 ราย เป็นชาย 137 ราย หญิง 79 ราย โดยเป็นไตที่ญาติมีชีวิตบริจาค 173 รายและจากผู้เสียชีวิต 43 ราย ช่วยให้ผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายได้กลับมีชีวิตอย่างสุขอีกด้วย
ทางด้านนายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายสิทธิบัตรทอง ที่เคยรักษาด้วยการฟอกเลือดมาก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2551 ซึ่งมีประมาณ 6,200 ราย ถ้าจะใช้วิธีเดิมไม่เปลี่ยนเป็นวิธีการล้างไตผ่านทางช่องท้องจะต้องร่วมจ่ายครั้งละไม่เกิน 500 บาท ส่วนผู้ป่วยรายใหม่ที่เลือกใช้วิธีฟอกเลือดต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง ขณะนี้มีสถานพยาบาลให้บริการฟอกเลือด ที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการกับ สปสช. และผ่านเกณฑ์มาตรฐานของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยแล้ว 358 แห่ง และขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการ 176 แห่ง หรือร้อยละ 49 มีผู้ป่วยบัตรทองที่ฟอกเลือดและจ่ายค่ารักษาเอง จำนวน 6,134 ราย
นายแพทย์วินัยกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สปสช. ยังได้ให้สิทธิแก่ผู้ป่วยรายเก่าที่ฟอกไตผ่านทางช่องท้องแล้วมีปัญหา ได้แก่ การอักเสบของช่องท้องที่รักษาแล้วไม่ดีขึ้น การอักเสบของช่องท้องจากเชื้อรา มีการอักเสบประจำของแผลหน้าท้องที่วางสาย การอักเสบของสายต่อของท่อในช่องท้อง มีการอักเสบติดเชื้อในช่องท้อง และได้รับการผ่าตัดอวัยวะในช่องท้อง ไม่สามารถล้างไตผ่านทางช่องท้องได้ สามารถเปลี่ยนเป็นการฟอกเลือดแทนได้ชั่วคราวไม่เกิน 3 เดือน
สำหรับผู้ป่วยที่จะได้สิทธิฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม โดยไม่ต้องร่วมจ่ายเงินเพิ่ม 500 บาท มีอยู่ 2 กลุ่มคือ 1.ผู้ที่ได้รับการล้างไตผ่านทางช่องท้องแล้วมีปัญหาตามมา ได้แก่ น้ำยารั่วออกจากช่องท้องประจำ เยื่อบุช่องท้องเป็นพังผืดและผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าอย่างรุนแรง จะได้รับสิทธิเปลี่ยนจากล้างไตทางหน้าท้องเป็นการฟอกเลือดถาวรโดยไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม 2.กลุ่มผู้ป่วยที่มีข้อห้ามล้างไตทางช่องท้อง ตามข้อกำหนดของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยเสนอ ได้แก่ มีสิ่งแปลกปลอมในช่องท้องมาก่อน เช่น ใส่เส้นเลือดเทียม มีไส้เลื่อนที่ยังไม่แก้ไข หรือมีช่องทางติดต่อระหว่างช่องท้องกับอวัยวะภายนอก อ้วนมากมีค่าดัชนีมวลกายหรือบีเอ็มไอมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ลำไส้อักเสบบ่อยๆ มีการผ่าตัดนำกระเพาะหรือลำไส้ออกทางหน้าท้อง มีรอยโรคบริเวณผิวหนังหน้าท้องที่ไม่สามารถวางสายได้ มีพังผืดภายในช่องท้องมาก มีสภาพจิตบกพร่องรุนแรง และผู้ป่วยที่ไม่มีผู้ดูแลในการล้างไตผ่านทางช่องท้อง
****************************** 10 กันยายน 2551
View 11
10/09/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ