กระทรวงสาธารณสุข เผยทั่วประเทศมีสถานบำบัดฟื้นฟูผู้เสพสารเสพติดได้รับอนุญาตขึ้นทะเบียนตามพ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ 2522 จำนวน 1,200 กว่าแห่ง ในปี 2551 เร่งพัฒนาวัดอีก 22 แห่ง เป็นศูนย์สงเคราะห์และฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดสารเสพติด ใกล้บ้าน ใกล้ใจในชุมชน สอดคล้องวิถีไทย คาดปี 2551 นี้ มีผู้ติดยาเสพติดกว่า 4 แสนคน และมีกลุ่มเสี่ยงเสพติดอีกกว่า 5 แสนคน วันนี้ (11 กันยายน 2551)ที่สถาบันธัญญารักษ์ จังหวัดปทุมธานี นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ พระสงฆ์ ทีมบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของวัด เจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ที่วัดตั้งอยู่ สำนักงาน ป.ป.ส. กรมคุมประพฤติ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทั้งจากส่วนกลางและในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยบำบัดยาเสพติดของสถานพยาบาลเอกชน จำนวนกว่า 300 คน เพื่อพัฒนามาตรฐานการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดสารเสพติดให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศทั้งภาครัฐเอกชน และวัด ตามแผนปฎิบัติการ “รวมพลังประชาไทย พ้นภัยยาเสพติด” ของกระทรวงสาธารณสุข นายชวรัตน์ กล่าวว่า ผลการสุ่มสำรวจทางสถิติ ของสถาบันธัญญารักษ์ ในปี 2551 คาดว่าทั่วประเทศมีผู้เสพ ยาเสพติด 426,428 คน และมีกลุ่มเสี่ยงใช้ยาเสพติด 560,000 คน โดยผู้ที่เสพยาเสพติดในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นคนกลุ่มใหม่ คนละกลุ่มกับเมื่อช่วงประกาศสงครามยาเสพติดเมื่อพ.ศ. 2546 โดยร้อยละ 50 อยู่ในกทม.และปริมณฑล ในกทม.มีผู้เสพยาเพิ่มจาก 39,000 คนในปี 2546 เป็น 82,780 คน ในปี 2550 และมีผู้กระทำผิดคดียาเสพติดไปกระทำผิดคดีอาญาอื่นๆมากที่สุด จึงต้องเร่งรัดการบำบัดฟื้นฟูให้เลิกเสพยาและไม่หวนกลับมายุ่งเกี่ยวยาเสพติดอย่างเด็ดขาด ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชนและภาคประชาชน เนื่องจากผลกระทบยาเสพติด เป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของชาติ นายชวรัตน์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ทั่วประเทศมีสถานบำบัดยาเสพติดที่ได้รับอนุญาตขึ้นทะเบียนตามพ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ 2522 จำนวน 1,200 กว่าแห่ง ในจำนวนนี้เป็นสถานพยาบาลที่ผ่านการรับรองมาตรฐานคุณภาพบริการ 977 แห่งหรือร้อยละ 80 ประกอบด้วยโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 842 แห่ง สังกัดกทม. 76 แห่ง สังกัดกระทรวงกลาโหม 42 แห่ง สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 11 แห่ง และสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย 6 แห่ง ในปีนี้ได้ตั้งเป้าหมายขยายสถานที่บำบัดในภาคเอกชนจำนวน 107 แห่ง และพัฒนามาตรฐานวัดให้เป็นศูนย์สงเคราะห์และบำบัดฟื้นฟูยาเสพติดอีก 22 แห่ง ซึ่งจะทำให้ผู้ได้รับการบำบัดฟื้นฟูได้รับการอบรมธรรมะ มีจิตใจเข้มแข็งยิ่งขึ้น และอยู่ใกล้บ้าน ใกล้ชุมชน สอดคล้องวิถีไทย ซึ่งวัดไทยเป็นแห่งเดียวในโลก ที่ทำหน้าที่ช่วยสังคมบำบัดผู้ติดยาเสพติด โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ทางด้านนายแพทย์เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2546-2550 มีกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดเข้ารับการบำบัดประมาณ 500,000 คน เฉพาะปี 2550 มีผู้รับการบำบัด 57,751 คน ในจำนวนนี้ติดอย่างรุนแรง ร้อยละ 2 ส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงานและคนว่างงาน ซึ่งเกือบร้อยละ 80 เป็นยาบ้า ในจำนวนนี้ผ่านการบำบัดจากวัด 3,779 คน ใช้วิธีการเสพยามากถึง 8 วิธี ได้แก่ สูดดม อมไว้ใต้ลิ้น เหน็บทางทวารหนัก สอดเข้าใต้หนังตา สูบ กิน ฉีดเข้ากล้ามเนื้อและฉีดเข้าเส้น สำหรับวัดที่พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานเป็นศูนย์สงเคราะห์และฟื้นฟูยาเสพติด 22 แห่ง ได้แก่ วัดเทพมงคล อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ วัดตาไก้พลวง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ วัดดงใหญ่วังอ้อ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี วัดสวนร่มบารมี อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก วัดอร่ามมงคล อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ สำนักแม่ชีปฏิบัติธรรมเขาพระ อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี วัดนิมิตประชาราม อ.ขามทะเลสอ จ.นครราชสีมา วัดเขาเพิ่มศรีสว่าง อ.บ้านนา จ.นครนายก วัดป่านาคำ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ วัดพุทธคามนิคม อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ วัดสะพาน เขตคลองเตย กทม. วัดภาวนาภิรตาราม เขตบางกอกน้อย กทม. วัดวังผาแดง อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี วัดท่าพุราษฎร์บำรุง อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี วัดอินทาราม อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี วัดบ้านใหม่สิริวัฒนาราม อ.หันคา จ.ชัยนาท วัดเขาแก้ว อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี วัดป่าดาราภิรมย์ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ วัดอโศการาม อ.นามน จ.กาฬสินธุ์ สำนักสงฆ์ นิคามธรรมาวาส อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี วัดหนองนางเก่า อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา และวัดยองแยง อ.เมือง จ.นครราชสีมา ********************************** 11 กันยายน 2551


   
   


View 12    11/09/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ