ปลัด สธ. ติดตามการดูแลรักษา “พระ-ผู้แสวงบุญ” ในดินแดนพุทธภูมิ จัดส่งทีมแพทย์ 6 รุ่น รวม 60 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 15 View
- อ่านต่อ
คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ เห็นชอบแนวทางควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 รณรงค์ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” มีมติไม่ขยายระยะเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึง 02.00 น. และไม่เห็นชอบการกำหนดพื้นที่พิเศษขายตั้งแต่ 11.00-04.00 น. เนื่องจากจะเพิ่มการบริโภค ส่งผลให้เกิดอันตรายและอาชญากรรมมากขึ้น
วันนี้ (22 ธันวาคม 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 โดยมี นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
ดร.สาธิต กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบแนวทางการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 กำหนดแนวคิดการรณรงค์ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” ภายใต้คำขวัญรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่ปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” ตามที่คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เสนอ โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ช่วง คือ 1.ช่วงเตรียมความพร้อมก่อนเทศกาลปีใหม่ รณรงค์จัดกิจกรรมปีใหม่ปลอดเหล้า หรือสวดมนต์ข้ามปี สร้างกระแสให้ร้านค้าและประชาชนปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น ห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามส่งเสริมการขาย ลดแลกแจกแถม ขายในเวลาที่กำหนด 11.00-14.00 น. และ 17.00-24.00 น. 2.ช่วงเทศกาลปีใหม่ ใช้มาตรการชุมชนเชิงบวก เพิ่มศักยภาพด่านชุมชนคัดกรองผู้ขับขี่ที่มีอาการมึนเมา กรณีเกิดเหตุมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ให้เป่าวัดปริมาณแอลกอฮอล์ทางลมหายใจทุกราย หากไม่สามารถเป่าได้ให้ส่งโรงพยาบาลเพื่อเจาะเลือดตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ และบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดในผู้กระทำผิด และ 3.ช่วงหลังปีใหม่ เน้นคัดกรองส่งต่อผู้กระทำผิดฐานเมาแล้วขับที่ถูกศาลสั่งคุมประพฤติ ให้เข้ารับการบำบัดรักษา โดยจะแจ้งให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการเตรียมพร้อมต่อไป
ดร.สาธิต กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้รับทราบการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565-2570) โดยมอบคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ติดตามความก้าวหน้าการจัดทำแผนดำเนินงานตามแผปฏิบัติการดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อควบคุมและลดการบริโภคแอลกอฮอล์ของประชาชน ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ควบคุมจำนวนผู้บริโภค ลดความเสี่ยงจากการบริโภค และลดความรุนแรงของปัญหาจากการบริโภค ส่วนข้อเสนอของกลุ่มผู้ประกอบการเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันและขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน เช่น ขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปจนถึง 02.00 น. ยกเลิกเวลาห้ามขาย 14.00-17.00 น. และการพิจารณากำหนดพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวยามค่ำคืน ให้ขายได้ตั้งแต่ 11.00-04.00 น.นั้น คณะกรรมการเห็นตรงกันว่าประเทศไทยมีการกำหนดเวลาให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน และการควบคุมการขายก็เพื่อลดปัญหาด้านสุขภาพ ครอบครัว อุบัติเหตุ อาชญากรรม การบำบัดฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้เข้าถึงโดยง่าย ซึ่งเป็นมาตรการที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ
“การศึกษาจำนวนมากพบว่า การขยายระยะเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะนำไปสู่การบริโภคที่เพิ่มขึ้น รวมถึงอันตรายที่เกี่ยวข้อง เช่น การเพิ่มของอาชญากรรมความรุนแรงในพื้นที่ จึงเห็นควรคงมาตรการดังกล่าวไว้ตามเดิม ซึ่งประกาศดังกล่าวยกเว้นการขายภายในอาคารท่าอากาศยานนานาชาติอยู่แล้ว จึงไม่ต้องแก้ไขประกาศ ส่วนที่กล่าวอ้างว่ามาตรการห้ามขายบริเวณสถานศึกษาตามคำสั่ง คสช.ไม่มีประสิทธิภาพควบคุมการดื่ม ไม่เป็นจริงตามที่กล่าวอ้าง จึงไม่เห็นด้วยที่จะยกเลิกมาตรการนี้” ดร.สาธิตกล่าว
ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ของทุกปีพบว่ามีอุบัติเหตุการบาดเจ็บและเสียชีวิตบนท้องถนนจำนวนมาก ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปสถิติอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2564 - 4 มกราคม 2565 รวม 7 วัน เกิดอุบัติเหตุ 2,707 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 333 ราย ผู้บาดเจ็บ 2,672 คน พบอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะขับขี่ยานพาหนะเป็นอันดับ 2 คิดเป็นร้อยละ 29.51 ส่วนข้อมูลจากสำนักงานศาลยุติธรรม สรุปสถิติคดีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ที่เข้าสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 (7 วันอันตราย) เป็นคดี “เมาแล้วขับ” สูงถึง 1.5 หมื่นคน
ทั้งนี้ ในการประชุม นางสาวเพชรรัตน์ เอกแสงกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ สังคมปลอดภัย ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 เพื่อลดปัญหาและผลกระทบทางสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ สร้างค่านิยมที่ดีในการรับผิดชอบต่อสังคม คือ ปฏิบัติตามกฎหมายจราจรทางบกและควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จัดงานเลี้ยงปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขอความร่วมมืองดการขับขี่รถทุกครั้งหลังการดื่ม ตรวจสุขภาพประจำปีและคัดกรองพฤติกรรมการดื่มอย่างน้อย 1 ครั้ง/ปี กำหนดโทษสำหรับเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดอันมีสาเหตุมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และส่งเสริมให้มีการติดตั้ง Alcohol interlock บนรถขนส่งสินค้า เพื่อเป็นการประเมินผู้ขับขี่ก่อนการเดินทาง
*********************************** 22 ธันวาคม 2565
***********************************