สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชทานหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ วันละกว่า 150 ทีม ออกให้บริการรักษาพยาบาลผู้ประสบน้ำท่วม เผยในรอบ 6 วัน มีผู้ป่วยกว่า 24,000 ราย มากที่สุดที่ จ.ลพบุรี ส่วนใหญ่เป็นน้ำกัดเท้า ไข้หวัด ยังไม่พบโรคระบาด วันนี้กระทรวงสาธารณสุขจัดส่งยาเพิ่มอีก 21,000 ชุด ช่วยจังหวัดเพชรบูรณ์ ลพบุรี นครราชสีมา และนครนายก
นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้มีรับสั่งให้กระทรวงสาธารณสุขจัดหน่วยแพทย์พระราชทานเคลื่อนที่ ออกให้บริการประชาชนผู้ประสบภัยทุกจังหวัด ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบวงกว้างขึ้น วันละกว่า 150 ทีม นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น และเพิ่มขวัญกำลังใจให้แก่ประชาชนผู้ประสบภัยเป็นอันมาก
ปัญหาที่วิกฤติขณะนี้อยู่ที่จังหวัดลพบุรี 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.บ้านหมี่ และ อ.โคกสำโรง ระดับน้ำสูงประมาณ 1 เมตร กระทรวงสาธารณสุขได้ระดมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล จิตแพทย์ นักจิตวิทยา และเจ้าหน้าที่อื่นๆ จากโรงพยาบาลลพบุรี โรงพยาบาลโคกสำโรง โรงพยาบาลท่าวุ้ง และประสานโรงพยาบาลอานันทมหิดล จังหวัดลพบุรี ซึ่งสังกัดกองทัพบก ออกให้บริการที่ ต.ถนนใหญ่ อ.เมือง ต.เกาะแก้ว อ.โคกสำโรง และ ต.หนองกระเบียน ต.พุคา ต.หนองเมือง อ.บ้านหมี่ โดยเตรียมเวชภัณฑ์ครบครัน ตรวจรักษาอย่างเต็มที่ จำนวนผู้ป่วยขณะนี้เพิ่มขึ้นจากวันละ 1,000 ราย เป็น 2,000 ราย
นายชวรัตน์ กล่าวต่อว่า ในวันนี้ได้จัดส่งยาสามัญประจำบ้านที่จำเป็น เพื่อให้ประชาชนใช้ดูแลการเจ็บป่วยเบื้องต้น ระหว่างน้ำท่วมอีกจำนวน 21,000 ชุด ไป 4 จังหวัดได้แก่ เพชรบูรณ์ ลพบุรี นครนายกและนครราชสีมา โดยเฉพาะจังหวัดลพบุรี ซึ่งบางแห่งมีประชาชนบอกว่ามียุงมาก ได้จัดส่งยากันยุงทั้งชนิดน้ำและชนิดพ่นให้ประมาณ 20,000 ชุด เพื่อใช้ป้องกันยุงกัด
ด้านแพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและประธานคณะกรรมการศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในรอบ 6 วัน ตั้งแต่วันที่ 11-16 กันยายน 2551 พบประชาชนเจ็บป่วย 24,853 ราย มากที่สุดที่ จ.ลพบุรี 11,169 ราย รองลงมาคือ จ.เลย 2,881 ราย จ.สระบุรี 1,841 ราย ส่วนใหญ่ร้อยละ 60 เป็นโรคน้ำกัดเท้า รองลงมาคือ ไข้หวัด ยังไม่พบโรคระบาด ได้รับรายงานว่ามีผู้ถูกแมงป่อง ตะขาบกัด 4 ราย ยังไม่มีรายงานถูกงูพิษกัด ได้สั่งการให้ทุกจังหวัดสำรองเซรุ่มแก้พิษงู 7 ชนิดไว้ ได้แก่ งูเห่า งูกะปะ งูจงอาง งูแมวเซา งูสามเหลี่ยม งูเขียวหางไหม้ และงูทับสมิงคลา
แพทย์หญิงศิริพร กล่าวต่อไปว่า ในช่วงที่ประสบภัยน้ำท่วมนี้ ประชาชนที่ปรุงอาหารเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย ขอให้ปรุงให้สุก 100 เปอร์เซ็นต์ และหลีกเลี่ยงการใช้กะทิ เนื่องจากจะทำให้บูดง่าย ประชาชนควรบริโภคภายใน 6 ชั่วโมง และขอให้ยึดหลักปลอดภัย 3 ประการคือ กินร้อนคือกินอาหารที่ปรุงสุกแล้ว ใช้ช้อนกลางตักอาหาร และล้างมือก่อนรับประทานอาหารและหลังจากใช้ห้องน้ำห้องส้วม
*******************************17 กันยายน 2551
View 21
17/09/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ