สาธารณสุข สรุปผล 3 ปี โครงการผ่าตัดแก้ไขความพิการปากแหว่ง-เพดานโหว่ เทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ ช่วยเด็กเกือบ 4,000 คน มั่นใจภายใน 5 ปี เด็กไทยอายุต่ำกว่า 5ปี จะไม่มีความพิการปากแหว่ง-เพดานโหว่อีก พร้อมแนะหญิงไทย เพิ่มกินผัก-ผลไม้ ผลวิจัยพบมีวิตามินชื่อ โฟเลท ป้องกันการเกิดปากแหว่งเพดานโหว่ในเด็กแรกเกิดได้ ขณะนี้เร่งศึกษาการเสริมธาตุเหล็ก กรดโฟลิคในแป้งสาลี คาด 3 เดือนรู้ผล
นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดการประชุม สรุปผลโครงการ ยิ้มสวย เสียงใส เทิดพระเกียรติ 50พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครบรอบ 3 ปี ซึ่งเป็นการบูรณาการการทำงานระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สภากาชาดไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสมาคมสหสาขาวิชาชีพ เพื่อดูแลแก้ไขปัญหาความพิการปากแหว่ง-เพดานโหว่ ของเด็กไทย เมื่อบ่ายวันนี้ (17 กันยายน 2551) ที่โรงแรมชลพฤกษ์รีสอร์ท จ.นครนายกว่า ปัญหาปากแหว่ง-เพดานโหว่ เป็นความพิการของใบหน้าที่พบมากที่สุดในเด็กแรกเกิด ปีละ 1,500-2,000 ราย การรักษาจะต้องใช้วิธีผ่าตัดเย็บรอยโหว่รอยแหว่ง จัดฟัน และฝึกการพูด ใช้ค่ารักษารายละไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท ที่ผ่านมาผู้ที่เข้าถึงการรักษา มักมีฐานะดีเท่านั้น คนยากจนจึงขาดโอกาส และใช้ชีวิตอยู่กับความพิการ
ในการแก้ไขปัญหานี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับ สภากาชาดไทย สปสช.และสมาคมสหสาขาวิชาชีพ จัดเป็นโครงการยิ้มสวย เสียงใส ผ่าตัดแก้ไขความพิการให้แก่เด็กดังกล่าว เพื่อทิดพระเกียรติ 50 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ระยะเวลา 5 ปี ระหว่างพ.ศ. 2548-2553 เป้าหมายผ่าตัดทั้งหมด 7,500 รายฟรี ปีละ 1,500 ราย เน้นเด็กที่เกิดตั้งแต่ 1 มกราคม 2547 เป็นต้นมา โครงการนี้ประสบผลสำเร็จมาก ในรอบ 3 ปีมานี้ผ่าตัดได้แล้ว 3,742 ราย ในโรงพยาบาล 42 แห่ง เฉพาะในปีนี้มีผ่าตัดแล้ว 1,317 ราย ได้รับการจัดฟัน 228 ราย แก้ไขการพูด 263 ราย และใส่เพดานเทียม 55 ราย
นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า จากการศึกษาในไทย พบเด็กปากแหว่งได้ 1 ใน 600 ของเด็กแรกเกิด ส่วนเพดานโหว่พบได้ 1 ใน 2,500 ของเด็กแรกเกิด มากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบ 1 ใน 300 ของเด็กแรกเกิด มักเกิดขึ้นในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นช่วงที่อวัยวะต่างๆของเด็กเจริญเติบโต สาเหตุอาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมและปัจจัยสิ่งแวดล้อม เช่นการขาดสารอาหาร สารเคมี การสูบบุหรี่ เป็นต้น โดยมีผลการศึกษาวิจัยในหลายประเทศพบว่า กรดโฟลิคหรือโฟเลท ซึ่งเป็นวิตามินชนิดหนึ่ง มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคนี้ หากระดับโฟเลทต่ำ จะเสี่ยงต่อการเกิดความพิการแต่กำเนิด เช่น ภาวะหลอดประสาทพิการ และปากแหว่งเพดานโหว่ การป้องกันเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ ได้แนะนำให้หญิงวัยเจริญพันธุ์กินกรดโฟลิคเพิ่ม เริ่มตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 1 เดือน และช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์
สำหรับกรดโฟลิคนี้ มีมากในผัก-ผลไม้สด เช่น มะเขือเทศ ผักตระกูลกระหล่ำ แตงกวา แครอท ถั่วฝักยาว ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วแดง ส้ม องุ่น และยังพบมากในตับไก่ ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ให้กรมอนามัยศึกษาวิจัยการเสริมกรดโฟลิคและธาตเหล็กในแป้งสาลี ในระดับโรงงาน ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการทำอาหารคาว-หวานของคนไทย เพื่อให้คนไทยได้รับสารอาหารชนิดให้เพียงพอคือ100-1,000 ไมโครกรัม โดยจะรู้ผลในอีก 3 เดือนนี้ และมีนโยบายสนับสนุนให้คนไทยกินผักผลไม้ให้ได้ครึ่งหนึ่งของอาหารแต่ละมื้อ
********************************* 17 กันยายน 2551
View 21
17/09/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ