กระทรวงสาธารณสุข เผยผลการออกกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารรอบ 7 วัน มีผู้ประสบภัยน้ำท่วมเจ็บป่วย 26,626 ราย วันนี้เพิ่มหน่วยแพทย์ฯ อีก 189 หน่วย ผลการเฝ้าระวังโรคที่มากับน้ำท่วม ทุกพื้นที่ยังไม่มีโรคฉี่หนูระบาด ย้ำเตือนประชาชน รวมทั้งทีมเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานที่เข้าไปช่วยเหลือ ป้องกันโรคโดยสวมรองเท้าบู้ท หรือหลีกเลี่ยงเดินย่ำน้ำเป็นเวลานานๆ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ว่า ในวันนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ออกให้บริการประชาชนในพื้นที่ประสบภัยจาก 148 หน่วยเป็น 189 หน่วย เพื่อให้ครอบคลุมทั่วถึงประชาชนทุกหมู่บ้าน ในรอบ 7 วันมานี้ ตั้งแต่วันที่ 11-17 กันยายน 2551 มีผู้เจ็บป่วยรวม 26,626 ราย เฉพาะวันที่ 17 กันยายนมีผู้ป่วยกว่า 4,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัด รองลงมาคือ โรคน้ำกัดเท้า โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ขอความร่วมมืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรืออสม.ในพื้นที่น้ำท่วม ช่วยกันสำรวจและดูแลการให้ความช่วยเหลือชาวบ้านทั้งด้านการเจ็บป่วยและอื่นๆ เช่น น้ำดื่ม น้ำใช้สะอาด ว่าเพียงพอหรือไม่ รวมทั้งความเดือดร้อนเรื่องส้วม ขยะ ซึ่งในระยะเร่งด่วนนี้ หากผู้ประสบภัยได้รับการช่วยเหลืออย่างดีและรวดเร็ว จะลดผลกระทบทางสุขภาพจิตได้ สำหรับผลการเฝ้าระวังโรคที่มากับน้ำท่วม ยังไม่มีโรคระบาดในพื้นที่น้ำท่วมโดยรวม โดยเฉพาะโรคฉี่หนู แต่เพื่อความไม่ประมาท ขอแนะนำให้ประชาชนป้องกันโรค โดยหลีกเลี่ยงเดินย่ำน้ำเป็นเวลานานๆ หากจำเป็นให้ใส่รองเท้าบู้ทป้องกันน้ำเข้าเท้า สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ออกไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ต้องดูแลตนเองด้วย เนื่องจากพักผ่อนน้อย โอกาสเสี่ยงเจ็บป่วยก็มีสูง ทางด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้สั่งการให้หน่วยสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วทุกจังหวัด เฝ้าระวังโรคที่มากับน้ำท่วมอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะ 9 โรคสำคัญ ได้แก่ อหิวาตกโรค บิด ไทฟอยด์ อุจจาระร่วงเฉียบพลัน ไวรัสตับอักเสบ ไข้เลือดออก ตาแดง โรคฉี่หนู และบาดทะยักที่เกิดจากบาดแผลติดเชื้อ สำหรับโรคฉี่หนูนั้น ในช่วงน้ำท่วมนี้ ยังไม่มีรายงานทุกพื้นที่ เนื่องจากโรคนี้ต้องใช้เวลาในการฟักตัวของเชื้อนานประมาณ 1 สัปดาห์ถึง 1 เดือน อาจมีผู้ติดเชื้อแต่ยังไม่ปรากฏอาการก็ได้ หากเกิดอาการไข้สูง และมีประวัติเดินย่ำน้ำมาก่อน ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาได้ทันท่วงที โรคนี้มียารักษาหายขาด อย่างไรก็ดีโรคนี้เป็นโรคพบได้ทั่วไปตลอดทั้งปี และมักจะเกิดหลังน้ำท่วม โดยเฉพาะจุดที่มีน้ำขังเป็นเวลาหลายวัน ยิ่งน้ำงวดมากใกล้จะแห้ง ปริมาณเชื้อโรคยิ่งจะสูง ต้องระวังอย่าไปสัมผัสแหล่งนี้ สำหรับเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่จะต้องออกไปให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย และต้องย่ำน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ให้กินยาป้องกันการติดเชื้อโรคฉี่หนู ได้แก่ ยาด็อกซี่ไซคลิน (Doxycycline) ขนาด 200 มิลลิกรัม กินพร้อมอาหาร ก่อนลงพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อโรค สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 4 สัปดาห์ จะป้องกันการติดเชื้อได้ นายแพทย์ธวัช กล่าวต่อว่า ประชาชนควรกำจัดขยะและอุจจาระให้ถูกวิธี โดยใส่ในถุงพลาสติกหรือถุงดำ ผูกมัดปากให้มิดชิด และรวบรวมไว้เพื่อให้เจ้าหน้าที่เก็บขยะรวบรวมไปกำจัดในแหล่งที่จัดไว้ อย่าทิ้งขยะหรือถ่ายอุจจาระลงน้ำอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปตามน้ำ ยากต่อการควบคุม หากเกิดโรคระบาด โดยเฉพาะโรคที่ติดต่อทางน้ำและอาหาร ************** 18 กันยายน 2551


   
   


View 20    18/09/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ