ปลัด สธ. ติดตามการดูแลรักษา “พระ-ผู้แสวงบุญ” ในดินแดนพุทธภูมิ จัดส่งทีมแพทย์ 6 รุ่น รวม 60 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 15 View
- อ่านต่อ
โรงพยาบาลบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี พัฒนาระบบงานผู้ป่วยนอก โปรแกรมการรักษาทางเลือกแก่ผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง ด้วยแนวคิด Smart NCD ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทีมสหวิชาชีพวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพและวางแผนการรักษา เปลี่ยนแนวความคิดว่าโรคเบาหวานความดันโลหิตสูงสามารถเข้าสู่ระยะสงบได้ (Remission) นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ช่วยให้ผู้ป่วยลดการใช้ยาจนถึงสามารถหยุดยาได้
นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 11 เปิดเผยว่า กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิตของคนไทย ข้อมูลจากกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค ปี 2564 มีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวาน 16,008 ราย และจากโรคความดันโลหิตสูง 9,444 ราย ซึ่งกลุ่มโรคนี้ส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิต โรงพยาบาลบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงมีการพัฒนาโปรแกรมการรักษาทางเลือกแก่ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูงด้วยแนวคิด Smart NCD ซึ่งเน้นปรับวิธีการทำงานและนำเทคโนโลยีอย่างง่ายเข้ามาช่วยแพทย์ทำการวิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้ Smart Watch ติดตามกิจกรรมทางกาย ร่วมกับอุปกรณ์เจาะหาน้ำตาลในเลือดที่บ้าน หรือเครื่องวัดความดัน และเชื่อมโยงข้อมูลเข้าระบบ Cloud สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สะดวก จะใช้การจดข้อมูลในกระดาษแล้วผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ เพื่อรวบรวมข้อมูลสุขภาพให้แพทย์วิเคราะห์และวางแผนการปรับพฤติกรรมเป็นรายบุคคล โดยมีทีมสหวิชาชีพคอยให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัว เช่น การออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร ให้กำลังใจผู้ป่วย ทำให้สามารถปรับลดยาเดิม และบางรายหายป่วย สามารถหยุดยาได้ ซึ่งเป็นผลดีกับตัวผู้ป่วยเอง รวมถึงช่วยลดความแออัดให้กับโรงพยาบาล เนื่องจากมีการติดตามอาการผ่านเทคโนโลยี และผู้ป่วยบางส่วนสามารถหยุดยาได้
ด้าน นายแพทย์เอกพล พิศาล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านตาขุน กล่าวว่า ผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูงที่เข้ารับบริการใน Smart NCD Clinic ต้องผ่านการประเมินของแพทย์ก่อนว่าจะเป้าหมายในการรักษาจะสามารถไปได้แค่ไหน เช่น หยุดยาได้หรือไม่ หลังจากนั้นก็จะมีการทำแผนการรักษาร่วมกับการตัดสินใจของผู้ป่วย ปัจจุบันมีเบาหวานชนิดที่ 2 ที่เข้าสู่ระยะสงบแล้ว 27 ราย (โรงพยาบาล 22 ราย,รพ.สต. 5 ราย) จากผู้ป่วยเบาหวานที่เข้ารักษาที่โรงพยาบาล 695 ราย ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงสามารถหยุดยาได้แล้ว 177 ราย (โรงพยาบาล 161 รายรพ.สต. 16 ราย) จากผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล 1,592 ราย โดยระยะแรกแพทย์จะทำงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพ ทั้งพยาบาล นักโภชนาการ นักกายภาพบำบัด อย่างใกล้ชิด มีการนัดหมายทุก 1-2 สัปดาห์ ร่วมกับกระบวนการที่สำคัญคือ การปรับกรอบความคิดว่าโรคนี้สามารถดีขึ้นได้ด้วยการปรับพฤติกรรม ไม่จำเป็นต้องกินยาตลอดชีวิต ขณะที่ทีมบุคลากรทางการแพทย์ต้องเปิดใจรับฟังผู้ป่วยแบบเพื่อน ติดตามอาการ ให้ความรู้ด้านโภชนาการและการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง
โดยผลการดำเนินงานในปี 2565 ช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานที่ดูแลในโรงพยาบาลสามารถควบคุมอาการได้ดีถึงร้อยละ 59.4 และ Remission ร้อยละ 4.7 ส่วนผู้ป่วยความดันโลหิตสูงสามารถควบคุมอาการได้ดี ร้อยละ 68.2 และ Remission ร้อยละ 10.4 ที่สำคัญยังเกิดกระบวนการส่งต่อความรู้ ส่งผลให้จำนวนการเกิดผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงรายใหม่มีจำนวนลดลง และจำนวนผู้ป่วยที่เกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคดังกล่าวลดลง อย่างต่อเนื่อง เช่น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในพื้นที่ลดลง จากปี 2560 มีจำนวน 12 ราย ในปี 2565 ลดลงเป็น 4 ราย
*********************** 4 กุมภาพันธ์ 2566