สำนักงานสาธารณสุขลพบุรี ปรับแผนดูแลสุขภาพผู้ประสบภัยน้ำท่วมในสัปดาห์ที่ 2 จัดส่งทีมแพทย์เฉพาะทาง จ้ำเรือออกตรวจสุขภาพผู้ป่วยโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคจิต และโรคลมชัก ดูแลกินยาต่อเนื่อง หลังพบผู้ป่วยขาดนัดแพทย์ร้อยละ 23 และให้โรงพยาบาลบ้านหมี่ จัดทำชุดทำแผล 20,000 ชุดและยาแก้แพ้ หลังพบน้ำเริ่มมีกลิ่นเหม็น ทำให้เกิดโรคผื่นคันน้ำกัดเท้า เพิ่มจากร้อยละ 40 เป็นร้อยละ 80 แพทย์หญิงประนอม คำเที่ยง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลพบุรี ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ว่า จากการประเมินสภาพน้ำท่วม ที่ อ.โคกสำโรง น้ำเริ่มคลี่คลายลง แต่ที่ อ.บ้านหมี่คาดว่าสถานการณ์อาจยืดเยื้อนานนับเดือน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลพบุรีได้ปรับแผนให้การดูแลผู้ประสบภัย 3 เรื่องใหญ่ ประการแรกคือ การดูแลผู้ป่วยโรคน้ำกัดเท้า เป็นเรื่องที่ต้องรับมือหนักขึ้น เมื่อมีน้ำท่วมขังนานขึ้น จากรายงานหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พบประชาชนเป็นโรคน้ำกัดเท้าเพิ่มจากร้อยละ 30 ในช่วง 4-5 วันแรก เป็นร้อยละ 80 ของผู้รับบริการตรวจรักษาที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 เนื่องจากน้ำเริ่มเน่าเหม็น โดยเฉพาะที่ต.พุคา ระดับน้ำท่วมยังสูง 2-3 เมตร ผู้ประสบภัยมีอาการคัน และเกาบริเวณที่คัน เกิดเป็นแผลอักเสบ ได้ให้โรงพยาบาลบ้านหมี่จัดชุดดูแลแผลเบื้องต้น ซึ่งมีสำลี ผ้าก๊อซปลอดเชื้อ น้ำยาทาฆ่าเชื้อ ครีมทาผื่นคัน ยากินแก้แพ้ และผงน้ำตาลเกลือแร่แก้ท้องเสีย พร้อมคำแนะการใช้ แจกประชาชนไปแล้ว 5,000 ชุด และจะเพิ่มอีก 20,000 ชุดให้เพียงพอ และเพิ่มได้ตามจำนวนผู้เจ็บป่วย โดยจัดหน่วยแพทย์ประจำการให้บริการประชาชนที่บ้านพุคา พร้อมรถพยาบาลฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง หากมีผู้ป่วยที่มีอาการหนัก สามารถนำส่งโรงพยาบาลได้ทันที ประการที่ 2 ได้แก่ การจัดหน่วยแพทย์เฉพาะทาง พร้อมเจ้าหน้าที่ ยา และเครื่องมือตรวจแพทย์ ออกเยี่ยมบ้านผู้ที่ป่วยโรคเรื้อรังที่ติดอยู่ในบ้านจากน้ำท่วมสูง ไม่สามารถเดินทางไปพบแพทย์ตามนัดได้ ได้แก่ โรค อัมพฤกษ์อัมพาต โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคลมชัก ซึ่งที่ อ.บ้านหมี่ มีผู้ป่วยโรคดังกล่าวทั้งหมด 243 ราย และขาดนัดในช่วงน้ำท่วมสัปดาห์แรกแล้ว 56 ราย หรือร้อยละ 23 โรคเหล่านี้ไม่มียารักษาหายขาด ต้องกินยาควบคุมอาการต่อเนื่อง หากขาดยาจะทำให้อาการกำเริบรุนแรงได้ เช่น โรคลมชัก การชักจากการขาดยาแต่ละครั้งจะทำให้เซลล์สมองตายมากขึ้น ผู้ป่วยจะมีความพิการเป็นภาระแก่ญาติมากขึ้น ได้มอบหมายให้นายแพทย์วัฒนะ พันธุ์ม่วง ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เป็นหัวหน้าทีมในการจัดทีมออกเยี่ยมบ้านผู้ป่วยทุกราย ร่วมกับเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยและอาสาสมัครสาธารณสุขในพื้นที่ แพทย์หญิงประนอม กล่าวต่ออีกว่า แผนสุดท้ายคือ การป้องกันโรคจากน้ำท่วม ยิ่งน้ำท่วมนานหลายวัน สภาพน้ำยิ่งสกปรกมากขึ้น โอกาสเกิดการเจ็บป่วยจากเชื้อโรคที่อยู่ในน้ำจะมากขึ้น ได้ระดมหน่วยประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ จากกองสุขศึกษาและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอ ออกให้ความรู้ประชาชน พร้อมจัดทำเอกสารให้คำแนะนำการป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วมที่พบบ่อย 8 โรค ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคน้ำกัดเท้า โรคฉี่หนู ไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม บาดแผล ตาแดง โรคไข้เลือดออก รวมทั้งการดูแลความปลอดภัยการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าแจก 50,000 ชุด ***************** 22 กันยายน 2551


   
   


View 17    22/09/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ