ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งให้ทุกจังหวัดคุมเข้มโรคฉี่หนูหลังน้ำลด ขณะนี้มีรายงานในจังหวัดพิษณุโลกและสุโขทัย แห่งละ 5-6 ราย ย้ำเตือนประชาชนที่เท้าเปื่อย มีแผล ไม่ควรเดินลุยน้ำย่ำโคลน เสี่ยงติดเชื้อนี้สูงถึง 15 เท่าตัว แนะหากป่วย ไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว ปวดกล้ามเนื้อ ต้องรีบพบแพทย์ทันที อย่ารักษาเอง นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากที่มีน้ำท่วมมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2549 จนถึงวันนี้ หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของกระทรวงสาธารณสุขได้ให้การรักษาผู้เจ็บป่วยไปแล้วทั้งหมด 609,025 ราย ขณะนี้มีหลายจังหวัดน้ำลดลงแล้ว เช่น พิษณุโลก สุโขทัย อุทัยธานี ลพบุรี รวมทั้งบางจุดในจังหวัดอื่น ๆ ในภาคกลางด้วย ให้จังหวัดปฏิบัติตามแผนหลังน้ำลด โดยปรับสภาพสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมและเฝ้าระวังป้องกันโรคระบาด ที่สำคัญ ได้แก่ โรคฉี่หนู โรคไข้เลือดออก โรคอุจจาระร่วงอย่างแรง อย่างใกล้ชิด และให้ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วซึ่งมีประมาณ 1,200 ทีม ลงพื้นที่เพื่อทำการควบคุมทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อมีผู้ป่วย นายแพทย์ปราชญ์กล่าวว่า โดยเฉพาะโรคฉี่หนูนั้น ขณะนี้มีรายงานเริ่มพบประปรายที่จังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย จังหวัดละ 5-6 ราย แต่ควบคุมได้ โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มีแหล่งมาจากหนูเป็นส่วนใหญ่ เชื้อจะแพร่กระจายเชื้อผ่านทางปัสสาวะของหนูสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ โดยเฉพาะน้ำที่ขังเป็นแอ่งๆ เชื้อจะติดต่อมาสู่คนได้ โดยเข้าทางบาดแผลที่ผิวหนัง ฉะนั้นผู้ที่มีบาดแผลที่เท้า ที่ขา หรือเป็นโรคน้ำกัดเท้า เท้าเปื่อยอยู่แล้ว ซึ่งจากากรออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่มีทั้งหมด 268,664 รายหรือร้อยละ 44 ของผู้เจ็บป่วยทั้งหมด จะต้องเพิ่มความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ หากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำที่แช่ขังเฉอะแฉะ เนื่องจากจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนเป็นจำนวนมาก แต่หากหลีกเลียงไม่ได้ ขอให้สวมถุงพลาสติกและใส่รองเท้าบู๊ท เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าบาดแผล สำหรับประชาชนทั่วไป ขอให้รีบล้างทำความสะอาดเท้าหลังเดินลุยน้ำท่วมขังทันที และเช็ดให้แห้ง นอกจากนี้ขอให้ดื่มน้ำต้มสุก และดูแลปกปิดอาหารที่ปรุงแล้วให้มิดชิด เพื่อป้องกันหนูเข้าไปกินอาหารได้ สำหรับอาการของโรคฉี่หนู จะมีไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง โดยเฉพาะบริเวณโคนขาและน่อง อาจมีอาการท้องเสียหรือคลื่นไส้ร่วมด้วย และมีประวัติลุยน้ำย่ำโคลน หรือเดินในที่เปียก ชื้นแฉะ ก่อนหน้าที่จะป่วยในช่วง 5 - 11 วันที่ผ่านมา หากประชาชนมีอาการดังกล่าวขอให้รีบพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้านทันที อย่าซื้อยากินเอง อย่าปล่อยทิ้งไว้จนอาการกำเริบรุนแรง เพราะอาจทำให้เสียชีวิตได้ ทางด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคฉี่หนูพบมากทั่วโลก โดยเฉพาะเขตร้อน จากการศึกษาในพื้นที่ที่เคยระบาดที่จังหวัดสงขลาหลังน้ำท่วมขังในช่วงปลายปี 2548 ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2548 ถึงวันที่ 10 มกราคม 2549 พบผู้ป่วยโรคฉี่หนูทั้งหมด 137 ราย เสียชีวิต 6 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 15-45 ปีร้อยละ 40 รองลงมาคือกลุ่มอายุต่ำกว่า 15 ปีร้อยละ 37 ผลการศึกษาครั้งนี้พบว่าผู้ที่มีแผลน้ำกัดเท้า บาดแผลถลอก เป็นรอยขีดข่วน แผลพุพอง มีความเสี่ยงติดโรคฉี่หนูสูงกว่าคนทั่วไปถึง 15 เท่าตัว ทั้งนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ มีประวัติสัมผัสกับน้ำท่วมก่อนป่วยประมาณ 1 สัปดาห์ โดยเด็กจะเล่นน้ำบริเวณบ้านหรือเล่นในคูระบายน้ำ ส่วนผู้ใหญ่จะลุยน้ำแช่น้ำนาน ร้อยละ 71 มีบาดแผลที่เท้าและขา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นน้ำกัดเท้า รวมทั้งบาดแผลถลอก เป็นรอยขีดข่วน แผลพุพอง อาการป่วยมีดังนี้ มีไข้ร้อยละ 99 มีอาการปวดเมื่อยตามตัว ปวดกล้ามเนื้อร้อยละ 65 ปวดศีรษะเฉียบพลันร้อยละ 46 ดีซ่านร้อยละ 13 ตับโตร้อยละ 8 นายแพทย์ธวัชกล่าว พฤศจิกายน/ 8 *************************** 2 พฤศจิกายน 2549


   
   


View 12    02/11/2549   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ