รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนการขับเคลื่อนเมืองสมุนไพรจันทบุรีเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร ของยูเนสโก กระตุ้นเกษตรกรเพาะปลูกตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ จับคู่ธุรกิจเพิ่มช่องทางและมูลค่าทางการตลาด เพิ่มมูลค่าสมุนไพรและผลไม้โดยเน้นความเป็น Super Food, Super Fruits ซึ่งผลวิจัยพบหลายชนิดมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง และพัฒนาศูนย์แปรรูปสมุนไพร และเปิดงาน “Good Health Good life @ Chanthaburi” สร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้คนเมืองจันท์

          วันนี้ (17 กุมภาพันธ์ 2566) ที่ห้องประชุมพลอยจันท์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจันทบุรี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ร่วมประชุมติดตามความก้าวหน้าโครงการเมืองสมุนไพรจังหวัดจันทบุรี และโครงการอาหารเป็นยาวิถีคนจันท์ และกล่าวว่า โครงการเมืองสมุนไพรเป็นแนวทางหนึ่งในการส่งเสริมการพัฒนาสมุนไพรไทยเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งจังหวัดจันทบุรีเป็น 1 ใน 14 จังหวัดเมืองสมุนไพรของประเทศ และเป็นจังหวัดนำร่องโครงการอาหารเป็นยา “วิถีคนจันท์” นำสมุนไพรมาประกอบเป็นอาหารสร้างเสริมสุขภาพ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ประชาชน และสร้างชื่อเสียงให้อาหารไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ซึ่งล่าสุดมีสถานประกอบการของจังหวัดจันทบุรีได้รับป้ายมาตรฐานอาหารเป็นยาแล้ว 26 แห่งโดยผ่านเกณฑ์มาตรฐาน Clean Food Good Taste และ Food for Health มีเมนูชูสุขภาพ

          ดร.สาธิต กล่าวต่อว่า จังหวัดจันทบุรี เป็นจังหวัดที่ร่ำรวยด้วยภาคเกษตรกรรม มีพื้นที่ปลูกพืชสมุนไพรกว่า 4,600 ไร่ พื้นที่เกษตรอินทรีย์รวม 1,850 ไร่ สมุนไพรสำคัญ 3 อันดับแรก คือ พริกไทย กระวาน และขมิ้นชัน และมีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ทั้งทุเรียน มังคุด ลำไย อีกทั้งมีความพร้อมในการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและสปา จึงมีแผนกระตุ้นเกษตรกรให้มีการปลูกสมุนไพรเพื่อการแปรรูปภายใต้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ จัดทำ Business Matching ให้เกษตรกรเห็นช่องทางและมูลค่าทางการตลาดเพื่อเป็นแรงจูงใจในการประกอบอาชีพ “อย่างสมดุล” กระตุ้นผู้ประกอบการร้านอาหารและผู้ประกอบการแปรรูปให้นำสมุนไพรและผลไม้มาเพิ่มมูลค่า โดยเน้นความเป็น Super Food, Super Fruits ทำการวิจัยหาสารสำคัญซึ่งผลการศึกษาปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระรวมในสมุนไพรนำร่องจังหวัดจันทบุรี 11 ชนิด (กระวาน ชะมวง พริกไทย ทุเรียน มะปี๊ด เร่วหอม สำรอง ระกำ มังคุด ลำไย กัญชา) โดยมหาวิทยาลัยราชภัฎรำไพพรรณี พบชะมวง มีค่าสารต้านอนุมูลอิสระสูงสุด จัด Roadshow และพัฒนาศูนย์แปรรูปสมุนไพร เพื่อขับเคลื่อนเมืองจันท์สู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของยูเนสโก ต่อไป 

          จากนั้น ดร.สาธิต เป็นประธานเปิดงานส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพและสุขภาวะของประชาชน จังหวัดจันทบุรี “Good Health Good life @ Chanthaburi” และมอบนโยบายการขับเคลื่อนสุขภาพ ประจำปี 2566 ณ อาคารอเนกประสงค์เทศบาลตำบลพลับพลานารายณ์ โดยมุ่งเน้น “ก้าวต่อไป คนไทยแข็งแรง” ยกระดับการส่งเสริมและดูแลประชาชนให้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี เริ่มตั้งแต่มารดาและทารก ส่งเสริมสุขภาพเชิงป้องกัน ด้วยหลัก 3 อ. สนับสนุนการบริโภคอาหารเป็นยา พัฒนาระบบบริการสาธารณสุขแนวใหม่ ใช้ทรัพยากรสาธารณสุขเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ ลดระยะเวลารอคอย โดยมี ผู้นำ ทีมงาน และ อสม.เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อน พร้อมทั้งมอบเกียรติบัตรให้กับ สสอ./คปสอ.ที่มีผลงานฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 เข็ม 3 ให้แก่ อสม.มากกว่า 90% และ รพ.สต.ที่มีผลงานฉีดวัคซีนฯ ให้แก่ อสม.ครบ 100% รวมทั้งแสดงความยินดีกับ อสม.จังหวัดจันทบุรี ที่ได้รับคัดเลือกเป็น อสม.ดีเด่นระดับเขต ประจำปี 2566 สาขาการบริการในศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน (คสมช.) และการสร้างหลักประกันสุขภาพ และ อสม.ดีเด่นระดับภาค ประจำปี 2566 สาขาการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ โดยภายในงานมีกิจกรรม เช่น การให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 การตรวจคัดกรองสุขภาพกายและสุขภาพจิต การลงทะเบียนหมอพร้อม/ระบบยืนยันตัวตน (DID) การทดสอบสมรรถภาพทางกาย บูธแสดงผลงาน Health For Wealth เมืองสมุนไพรมิติอาหารเป็นยา สู่ Gastronomy tourism และ Creative City Gastronomy กิจกรรม ขยับกาย สบายชีวี เป็นต้น

***************************************** 17 กุมภาพันธ์ 2566



   
   


View 1553    17/02/2566   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ