ปลัด สธ. ติดตามการดูแลรักษา “พระ-ผู้แสวงบุญ” ในดินแดนพุทธภูมิ จัดส่งทีมแพทย์ 6 รุ่น รวม 60 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 25 View
- อ่านต่อ
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์โรคโควิด 19 ในไทยยังคงตัว ปี 2566 อาจพบการติดเชื้อสูงขึ้นช่วงสงกรานต์และเปิดเทอม ย้ำกลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือฉีด LAAB รุกติดตามสถานการณ์ไวรัสและสายพันธุ์ต่อเนื่อง และเร่งทำนโยบายการฉีดวัคซีนและแนวทางการดูแลรักษาสำหรับปีหน้า ส่วนโรคไข้หวัดนกได้ยกระดับการเฝ้าระวังในโรงพยาบาลและชุมชน กรณีพบผู้ป่วยทางเดินหายใจมีประวัติใกล้ชิดผู้ป่วยสงสัย/สัมผัสสัตว์ปีกป่วยตาย หรือพบปอดอักเสบเป็นกลุ่มก้อน พร้อมคัดกรองผู้สัมผัสใกล้ชิดหากพบสัตว์ปีกป่วยตายจำนวนมาก
วันนี้ (27 กุมภาพันธ์ 2566) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมติดตามสถานการณ์โรคโควิด 19 ว่า แนวโน้มพบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโควิด 19 ลดลงทั้งแถบยุโรป สหรัฐอเมริกาและเอเชีย สำหรับประเทศไทย ข้อมูลวันที่ 19-25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล 204 ราย ผู้ป่วยอาการหนัก 66 ราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 44 ราย และผู้เสียชีวิต 9 ราย แนวโน้มอยู่ในระดับคงตัว โดยผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นกลุ่ม 608 ส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีน ได้รับวัคซีนเกิน 3 เดือน หรือไม่ได้ฉีดภูมิคุ้มกัน LAAB สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ พบติดเชื้อโควิด 19 ประปราย ซึ่งศักยภาพด้านการแพทย์ยังรองรับได้ ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าอาจจะพบการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นได้ในช่วงสงกรานต์และเปิดเทอมนี้ จึงเน้นการสื่อสารให้ประชาชนยังปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรค คือ ฉีดวัคซีนโควิด 19 หรือฉีด LAAB หากมีอาการป่วยทางเดินหายใจให้ตรวจคัดกรองด้วย ATK และสวมหน้ากากขณะอยู่ใกล้ชิดผู้อื่นส่วนผู้ป่วยกลุ่ม 608 ที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือ LAAB หากป่วยให้รีบเข้ารับการรักษา รวมทั้งให้สวมหน้ากากอนามัยในสถานที่สาธารณะ โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า ขนส่งสาธารณะ สำหรับเด็กเล็กแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยเมื่อมีอาการป่วยทางเดินหายใจ
“กระทรวงสาธารณสุขยังคงเฝ้าระวังโรคโควิด 19 อย่างเข้มข้น โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีการติดตามสถานการณ์ไวรัสและสายพันธุ์ต่างๆ ต่อเนื่อง ส่วนกรมควบคุมโรคได้จัดทำยุทธศาสตร์และนโยบายการฉีดวัคซีนในปีหน้า ขณะที่กรมการแพทย์ได้จัดทำแนวทางการดูแลรักษาสำหรับปีหน้าด้วยเช่นกัน ทั้งการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ยา เวชภัณฑ์ และการให้การรักษา” นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้ติดตามสถานการณ์โรคไข้หวัดนกที่พบผู้ป่วยและเสียชีวิตในประเทศกัมพูชา และให้ยกระดับการเฝ้าระวังโรคและคัดกรองผู้ป่วยสงสัยไข้หวัดนกในสถานพยาบาล เพิ่มการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในชุมชน โดยแจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทราบและดำเนินการสอบสวนป้องกันควบคุมการระบาดของโรค กรณีที่พบผู้ป่วยทางเดินหายใจที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยสงสัยไข้หวัดนก หรือสัมผัสใกล้ชิดสัตว์ปีกป่วยตาย หรือมีประวัติเดินทางมาจากพื้นที่ระบาดภายใน 14 วัน หรือกรณีพบผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรงที่ไม่ทราบสาเหตุ หรือพบผู้ป่วยปอดอักเสบเป็นกลุ่มก้อน และหากพบสัตว์ปีกป่วยตายจำนวนมากโดยไม่ทราบสาเหตุให้มีการคัดกรองผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดสัตว์ปีกป่วยตายด้วย รวมถึงขอให้ทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนหรือจังหวัดที่มีการเลี้ยงสัตว์ปีกจำนวนมาก ประสานความร่วมมือกับเครือข่ายเพื่อซักซ้อมแผนการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดนก หากพบสัตว์ปีกป่วยตายจำนวนมากโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือสงสัยไข้หวัดนก หรือพบผู้ป่วยสงสัยไข้หวัดนกในพื้นที่ พร้อมทั้งให้สื่อสารกับผู้เลี้ยงสัตว์ปีก หากพบสัตว์ปีกป่วยตายจำนวนมากโดยไม่ทราบสาเหตุ ให้รับแจ้งเจ้าหน้าที่ หน่วยงานปศุสัตว์ อสม. อาสาสมัครปศุสัตว์ ทันที และให้งดชำแหละหรือนำไปรับประทานแบบไม่สุก หรือสุกๆ ดิบๆ
********************** 27 กุมภาพันธ์ 2566