ปลัด สธ. ติดตามการดูแลรักษา “พระ-ผู้แสวงบุญ” ในดินแดนพุทธภูมิ จัดส่งทีมแพทย์ 6 รุ่น รวม 60 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 13 View
- อ่านต่อ
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผย ครม.มีมติเห็นชอบเพิ่มค่าป่วยการ อสม.เป็น 2 พันบาทต่อเดือน และเพิ่มจำนวน อสม.ที่มีสิทธิรับค่าป่วยการเป็น 1,090,163 คน เนื่องจากมีความสำคัญ ในฐานะมวลชนสุขภาพที่เป็นอาสาสมัครช่วยดูแลสุขภาพคนไทย ทำให้ระบบสาธารณสุขไทยมีรากฐานที่แข็งแกร่ง ได้รับการยอมรับในระดับโลก ประกอบกับมีภารกิจเพิ่มขึ้นหลายด้าน ช่วยให้มีเงินค่าใช้สอยและเข้ากองทุน ฌกส.ดูแลทายาทหลังเสียชีวิต
วันนี้ (7 มีนาคม 2566) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบเรื่องขอเพิ่มค่าป่วยการ อสม.เป็น 2 พันบาท และเพิ่มจำนวน อสม.ที่มีสิทธิรับค่าป่วยการ ในการตั้งคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 โดยเป็น อสม. 1,075,163 คน อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) 15,000 คน รวม 1,090,163 คน ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เนื่องจากเห็นความสำคัญของ อสม.ในการดูแลสุขภาพประชาชนไทย ซึ่งที่ผ่านมา อสม.ได้รับค่าป่วยการ 1 พันบาทต่อเดือน แม้ช่วงสถานการณ์โรคโควิด 19 ที่ผ่านมา ตนจะเสนอให้นายกรัฐมนตรีของบกลางเพิ่มค่าตอบแทนพิเศษเดือนละ 500 บาท ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 - กันยายน 2565 เพื่อช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ อสม.ต้องออกมาดูแลในสถานการณ์โควิด 19 มีความเสี่ยงติดเชื้อและประสบอุบัติเหตุ แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น มีการยกเลิก ศบค.และผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ลง ได้ยุติการให้ค่าตอบแทนพิเศษ อสม.จึงได้รับค่าป่วยการ 1 พันบาทตามเดิม
นายอนุทินกล่าวต่อว่า อสม. ถือเป็นรากฐานของระบบสาธารณสุขไทยที่แข็งแกร่ง องค์การอนามัยโลกยกย่องว่าเป็นกลไกสำคัญที่ร่วมกับบุคลากรสาธารณสุขบริหารจัดการควบคุมโรคระบาด เป็นกลุ่มมวลชนที่อาสามาบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวมที่ประเทศอื่นไม่มี ซึ่งขณะนี้ อสม.มีภารกิจในการดูแลสุขภาพประชาชนมากขึ้น โดยกระทรวงสาธารณสุขดำเนินนโยบาย “3 หมอ” ให้ประชาชนคนไทย 1 คน มีหมอประจำตัว 3 คน และหมอคนแรกคือ อสม. ทำหน้าที่ให้ความรู้ความเข้าใจประชาชนในการใส่ใจสุขภาพ มีคุณภาพชีวิตที่ดี คัดกรองสุขภาพและเก็บข้อมูลผู้สูงอายุ ติดตามประสานงาน เยี่ยมบ้าน เคาะประตูดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ส่งยาให้ผู้ป่วยถึงบ้าน เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล ประสานงานกับแพทย์ พยาบาล ในการดูแลผู้ป่วยเบื้องต้น ปฐมพยาบาล หรือส่งต่อ นอกจากนี้ ยังช่วยเฝ้าระวังสอดส่องเรื่องยาเสพติดในชุมชน หมู่บ้าน และประสานแจ้งเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ซึ่งเป็นภารกิจที่มีความเสี่ยงอันตราย
“อสม.เป็นมวลชนสุขภาพที่มีความตั้งใจ เสียสละทำงานให้รัฐโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน มีความจงรักภักดีเทิดทูนสถาบันหลักของชาติ มีความปรารถนาดีต่อประชาชนเพื่อนร่วมชาติ เป็นแกนหลักสร้างความสามัคคีปรองดอง การเพิ่มค่าป่วยการเป็น 2 พันบาท ส่วนหนึ่งจะช่วยให้ อสม.สามารถจับจ่ายใช้สอย มีเม็ดเงินไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจชุมชน และยังมีเงินสะสมเข้ากองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ (ฌกส.) ทำให้ทายาทของ อสม.ที่เสียชีวิตได้รับเงินจากกองทุนเกือบ 5 แสนบาทต่อราย ถือเป็นการตอบแทนความเสียสละของ อสม. ที่ทำให้ประชาชนมีหมอคนแรกคอยดูแลในชุมชน ทั้งนี้ หากเฉลี่ย อสม. 1 คนดูแลประชาชน 30 คน เรามี อสม. 1 ล้านกว่าคน เท่ากับใช้เงิน 65 บาทต่อวัน หรือประมาณ 2 บาทต่อคนต่อวัน ในการมีเครือข่ายสุขภาพไปดูแลประชาชนทั้งประเทศ” นายอนุทินกล่าว
*********************************** 7 มีนาคม 2566