โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เผย โรงพยาบาลสงขลา ได้พัฒนาแบบประเมิน “สัญญาณเตือนเข้าสู่ภาวะวิกฤตในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง” ช่วยประเมินอาการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วย ดักจับอาการผิดปกติได้อย่างรวดเร็ว นำไปสู่การวางแผนดูแล เฝ้าระวัง และให้การช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันทีเมื่อมีอาการผิดปกติ ลดการเสียชีวิต

          นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นพ.ทรงคุณวุฒิระดับ 11) ในฐานะประธานคณะกรรมการ MIU (MOPH Intelligence Unit) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ผลการวิจัยพัฒนาของโรงพยาบาลสงขลา ซึ่งมีการพัฒนาการให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยได้ทบทวนข้อมูลการให้บริการใน ปี พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผู้ป่วยในที่มีอาการทรุดลงและต้องช่วยฟื้นคืนชีพ 95 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 894 ราย ย้ายเข้ารับการรักษาห้องผู้ป่วยหนัก 396 ราย และมีผู้เสียชีวิต 751 ราย ซึ่งจากการประเมินการเฝ้าระวังผู้ป่วย พบมีความเกี่ยวข้องกับการประเมินสัญญาณชีพและการเฝ้าระวังสัญญาณเตือนเข้าสู่ภาวะวิกฤต จึงมีการทำวิจัยเพื่อพัฒนาการเฝ้าระวังสัญญาณเตือนเข้าสู่ภาวะวิกฤตอย่างเร่งด่วน เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติและพัฒนาสมรรถนะพยาบาลระดับปฏิบัติ ให้สามารถดูแลผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดอุบัติการณ์ผู้ป่วยอาการทรุดและเสียชีวิตโดยไม่คาดคิด โดยศึกษาสถานการณ์และวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยจากการทบทวนเวชระเบียนผู้ป่วยทรุด 10 แฟ้ม สนทนากลุ่มหัวหน้าหอผู้ป่วยและพยาบาลวิชาชีพแกนนำ รวม 35 คน และทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำแนวปฏิบัติ พร้อมประเมินผลในพยาบาลวิชาชีพกลุ่มตัวอย่าง 150 คน และผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงก่อนและ
หลังพัฒนา 200 คน

          ผลการวิจัยพบว่า หากไม่มีการใช้เครื่องมือเฝ้าระวังสัญญาณเตือนเข้าสู่ภาวะวิกฤติ สมรรถนะการเฝ้าระวังภาวะวิกฤตไม่เพียงพอ ดักจับปัญหาล่าช้า ส่งผลให้รายงานแพทย์ล่าช้า แต่เมื่อใช้แบบประเมินสัญญาณเตือนก่อนเข้าสู่ภาวะวิกฤต ซึ่งออกแบบสำหรับใช้กับผู้ป่วย 2 ช่วงอายุ คือ ผู้ป่วยอายุมากกว่า 15 ปี และ ผู้ป่วยอายุ 1 เดือน – 15 ปี สมรรถนะการดูแลผู้ป่วยเสี่ยงสูงของผู้ให้บริการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ส่วนผู้รับบริการพบจำนวนอุบัติการณ์
ทรุดลงอย่างไม่คาดคิดน้อยลงกว่าก่อนพัฒนาทุกอุบัติการณ์

         “แบบประเมินสัญญาณเตือนเข้าสู่ภาวะวิกฤตที่โรงพยาบาลสงขลาพัฒนาขึ้น ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังอาการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วย เพราะช่วยตรวจจับอาการผิดปกติได้รวดเร็ว ทำให้ช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันท่วงที สามารถนำไปขยายผลในหน่วยบริการต่างๆ จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น” นพ.รุ่งเรืองกล่าว

*********************************************** 23 มีนาคม 2566



   
   


View 20704    23/03/2566   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ