กระทรวงสาธารณสุข เผยผู้บาดเจ็บจากเหตุตำรวจปะทะพันธมิตร ทุกรายอาการดีขึ้น สรุปยอดผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ครั้งนี้รวม 443 ราย นอนรักษาตัว 82 ราย และเสียชีวิต 2 ราย โดยกระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด พร้อมประสานผู้บาดเจ็บกลับภูมิลำเนา หากอาการปลอดภัย โดยวันนี้จัดรถฉุกเฉินประจำพื้นที่ 10 ทีม ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยความคืบหน้าของผู้บาดเจ็บจากเหตุตำรวจปะทะกลุ่มพันธมิตร ตั้งแต่เวลาประมาณ 06.20 น. วันที่ 7 ตุลาคม 2551 ที่ผ่านมา จนถึงเวลา 06.00 น. วันนี้ (8 ตุลาคม 2551) ว่า ศูนย์นเรนทรได้สรุปรายงานผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ครั้งนี้รวม 443 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 2 ราย เป็นชาย 1 ราย หญิง 1 ราย ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 82 ราย ในโรงพยาบาล 9 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยแพทยศาสตร์กทม.และวชิระพยาบาล 32 ราย โรงพยาบาลกลาง 4 ราย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 2 ราย โรงพยาบาลราชวิถี 2 ราย โรงพยาบาลศิริราช 4 ราย โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า 12 ราย โรงพยาบาลรามาธิบดี 19 ราย โรงพยาบาลตำรวจ 5 ราย โรงพยาบาลเลิดสิน 2 ราย ซึ่งผู้บาดเจ็บทุกรายได้รับรายงานจากแพทย์ว่าอาการอยู่ในขั้นปลอดภัย ทีมแพทย์ได้ให้การดูแลอย่างเต็มที่ ในวันนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ศูนย์นเรนทร ประสานทีมแพทย์กู้ชีพฉุกเฉินพร้อมรถพยาบาลระดับสูงจากโรงพยาบาลต่างๆ ในกทม. ประจำพื้นที่อีก 10 ทีม พร้อมให้การช่วยเหลือทันทีหากมีผู้บาดเจ็บ ขณะเดียวกันได้มอบหมายให้นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการผู้อำนวยการศูนย์นเรนทร เดินทางไปเยี่ยมให้กำลังใจผู้บาดเจ็บที่นอนรักษาตัวอยู่ที่วชิระพยาบาล และให้กำลังใจทีมเจ้าหน้าที่ ซึ่งต้องทำงานกันอย่างหนัก เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้จุดเกิดเหตุมากที่สุด นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการเข้าเยี่ยมอาการผู้บาดเจ็บที่นอนรักษาตัวตามหอผู้ป่วยต่างๆ จำนวน 32 ราย ในจำนวนนี้อยู่ในหอผู้ป่วยหนัก 4 ราย ทุกรายอยู่ในความแลของทีมแพทย์พยาบาลอย่างใกล้ชิด อาการปลอดภัย สิ่งที่เป็นห่วงขณะนี้คือการป้องกันแผลติดเชื้อ โดยเฉพาะในรายที่กระดูกหักและมีบาดแผลเปิด ต้องใช้เวลารักษาเป็นเดือน ผู้บาดเจ็บทุกรายกระทรวงสาธารณสุขจะรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล ส่วนผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์นี้ที่อยู่ต่างจังหวัด เมื่ออาการปลอดภัยและต้องการกลับไปพักพื้นรักษาใกล้บ้าน กระทรวงสาธารณสุขจะประสานอำนวยความสะดวกให้ “รัฐมนตรีสาธารณสุขทั้ง 2 คน มีความห่วงใยผู้บาดเจ็บทั้ง 2 ฝ่าย และจะให้การดูแลรักษาอย่างดีที่สุดเพื่อให้หายป่วยและป้องกันความพิการ ในด้านจิตใจไม่เป็นห่วง เนื่องจากโรงพยาบาลแต่ละแห่งมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้การดูแลอยู่แล้ว กระทรวงสาธารณสุขมีความร่วมมือกับทุกโรงพยาบาล โรงเรียนแพทย์ และในฐานะที่รับผิดชอบในเรื่องการดูแลรักษาพยาบาล จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ดูแลทุกฝ่ายอย่างเสมอภาค ซึ่งมีงบประมาณเพียงพอ” นายแพทย์ไพจิตร์กล่าว ทางด้านนายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการผู้อำนวยการศูนย์นเรนทร กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ในกลุ่มผู้บาดเจ็บ พบว่ามี 8 รายที่สูญเสียอวัยวะ โดย 4 ราย เป็นชายทั้งหมด แขนขาถูกตัดขาด อีก 4 ราย นิ้วมือ นิ้วเท้าขาด เป็นชาย 2 ราย หญิง 2 ราย ส่วนในกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจบาดเจ็บทั้งหมด 20 ราย ในจำนวนนี้นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 9 ราย ********************8 ตุลาคม 2551


   
   


View 21    08/10/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ