ปลัด สธ. ติดตามการดูแลรักษา “พระ-ผู้แสวงบุญ” ในดินแดนพุทธภูมิ จัดส่งทีมแพทย์ 6 รุ่น รวม 60 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 13 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข ประชุมติดตามผลสรุปการตรวจราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 รอบที่ 1 เพื่อเป็นแนวทางปรับปรุงพัฒนางานสาธารณสุขให้สอดคล้องกับพื้นที่ และให้เกิดประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน โดยนโยบายสำคัญทำผลงานได้ตามเป้า ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพ สถานประกอบการด้านสุขภาพ/ wellness center เส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กัญชาทางการแพทย์ และการดูแลสุขภาพทุกกลุ่มวัย เร่งทำความเข้าใจเรื่อง Digital ID ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการสุขภาพอย่างไร้รอยต่อ
วันนี้ (12 พฤษภาคม 2566) ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมสรุปผลการตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 รอบที่ 1 โดยมีผู้บริหารระดับสูง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สาธารณสุขนิเทศก์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ /โรงพยาบาลทั่วไป และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า การตรวจราชการเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนและกำกับ ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวง รวมทั้งแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ซึ่งในปีนี้ ได้กำหนดเป้าหมายการตรวจราชการ 6 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ Health for Wealth, ระบบสุขภาพปฐมภูมิ, สุขภาพกลุ่มวัยและการยกระดับบริการผู้สูงอายุ, Digital Health (ระบบข้อมูลสุขภาพและเทคโนโลยีทางการแพทย์), ลดป่วย ลดตาย และการสร้างความมั่นคงทางสุขภาพ และองค์กรสมรรถนะสูง รวมถึงประเด็นปัญหาสำคัญระดับพื้นที่และนวัตกรรมการบริการสุขภาพ และการตรวจราชการแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยมีการประชุมสรุปผลรอบ 6 เดือนแรก เพื่อนำไปเป็นแนวทางปรับปรุงพัฒนางานการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนยิ่งขึ้น
นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้รายงานข้อสรุปผลการตรวจราชการ รอบ 6 เดือนแรก ซึ่งมีผลการดำเนินงานก้าวหน้าในหลายเรื่อง อาทิ ประเด็น Health for Wealth หรือการนำสุขภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ได้สนับสนุนการพัฒนามาตรฐานสถานประกอบการด้านสุขภาพ 910 แห่ง และ wellness center 320 แห่ง มีเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในทุกเขตสุขภาพรวมกว่า 80 แห่ง ส่วนกลุ่มผู้ผลิตฐานราก วิสาหกิจชุมชน SME ได้รับการสนับสนุนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 64.3 ซึ่งทั้งหมดสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ขณะที่กัญชาทางการแพทย์ มีการใช้ในผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 178.95 และในผู้ป่วยระยะประคับประคอง (Palliative care) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.02 ทั้งนี้ ทุกเขตสุขภาพยังมีการทำงานวิจัยและการจัดการด้านความรู้กัญชาทางการแพทย์ควบคู่กัน ซึ่งจะช่วยให้มีการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดด้วย
ในด้านสุขภาพกลุ่มวัยและการยกระดับบริการผู้สูงอายุ สามารถคัดกรองการพัฒนาการล่าช้าในกลุ่มเด็กปฐมวัยและส่งเข้ารับการกระตุ้นจนมีพัฒนาการสมวัย ได้สูงกว่าค่าเป้าหมาย เช่นเดียวกับกลุ่มวัยทำงาน ที่ผู้ที่มีปัญหาซึมเศร้า สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพจิตได้ถึงร้อยละ 92.28 ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุ ได้รับการคัดกรองความถดถอย 9 ด้านตามเป้าหมาย โดยพบปัญหา 3 อันดับแรก ได้แก่ ด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย 14.02% ด้านสุขภาพช่องปาก 12.20% และการมองเห็น 12.09% ซึ่งจะได้รับการดูแลจากคลินิกผู้สูงอายุที่ขณะนี้ดำเนินการครอบคลุมในรพ.ทุกระดับแล้ว ร้อยละ 65 และจะดำเนินการครบทุกแห่งภายในเดือนกันยายน 2566 นอกจากนี้ ทุกเขตสุขภาพได้เร่งสร้างความเข้าใจกับประชาชนถึงความสำคัญของระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) ซึ่งจะช่วยให้เข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้อย่างไร้รอยต่อ สอดรับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการให้บริการ อาทิ ระบบ Telemedicine, AI Screening เป็นต้น
**************************************** 12 พฤษภาคม 2566