อย. ร่วม สสจ.นครปฐม และตำรวจ จับร้านยาลอบขายวัตถุออกฤทธิ์ เตือนโทษหนักทั้งปรับและจำคุก
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
- 30 View
- อ่านต่อ
นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า หลายประเทศทั่วโลกได้มีการนำสารสกัดจากกัญชามาใช้เพื่อเป็นยารักษาโรคเนื่องจากมีการศึกษาวิจัยสนับสนุนถึงประโยชน์ และข้อพึงระวังจากการใช้กัญชามากขึ้น กรมการแพทย์ในฐานะกรมวิชาการที่มุ่งส่งเสริมมาตรฐานการรักษาโดยใช้หลักการแพทย์เชิงประจักษ์ (evidence-based medicine) รวมถึงการให้การรักษาภาวะแทรกซ้อนและเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากสารสกัดกัญชา จึงทำการทบทวนองค์ความรู้ต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงให้คำแนะนำทางการแพทย์การใช้กัญชาทางการแพทย์มีความทันสมัย เหมาะสมกับเหตุการณ์ ปัจจุบันมีคำแนะนำการใช้กัญชาทางการแพทย์ (Guidance on Cannabis for Medical Use) ซึ่งเป็นฉบับปรับปรุงครั้งที่ 5 (2565) ขอย้ำคำแนะนำฉบับนี้เป็นเครื่องมือในการให้การดูแล รักษา ควบคุมอาการของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีมาตรฐานแล้วไม่ได้ผล โดยคำนึงถึงความปลอดภัย ประสิทธิผล การเข้าถึงการรักษาเป็นสำคัญ โดยหวังผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น คำแนะนำนี้มิใช่ข้อบังคับของการปฏิบัติ ผู้ใช้สามารถปฏิบัติตามดุลพินิจภายใต้ความสามารถ ข้อจำกัดตามภาวะวิสัย และพฤติการณ์ที่มีอยู่ ทั้งนี้ กรมการแพทย์ยังคงยึดมั่นในหลักการทำงาน 3 ประการ คือ 1. ต้องปลอดภัยต่อผู้ป่วย (do no harm) 2.ต้องเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย (patient benefit) และ 3. ต้องไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง (no hidden agenda)
การจัดทำคำแนะนำการใช้สารสกัดจากกัญชาทางการแพทย์ ผ่านกระบวนการสืบค้นโดยใช้คำสำคัญโดยรวมเพื่อให้สืบค้นได้กว้างและได้ข้อมูลมากที่สุด เฉพาะข้อมูลที่เป็นภาษาไทยและอังกฤษเท่านั้น โดยสืบค้นจากฐานข้อมูล Medline ผ่าน PubMed รวมถึงฐานข้อมูล Cochrane Library และข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงข้อมูลที่ได้จากการนำยาสกัดกัญชาทางการแพทย์มาศึกษาวิจัยในประเทศไทยและการใช้กับผู้ป่วยเฉพาะราย โดยมีวัตถุประสงค์ให้แพทย์ และทันตแพทย์สามารถสั่งใช้ และเภสัชกรสามารถจ่ายผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ได้อย่างเหมาะสม ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษา/ ควบคุมอาการของโรค และภาวะของโรคได้ส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีการศึกษาเชิงทดลองการให้ยาสกัดกัญชาเกรดทางการแพทย์ที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรมชนิด THC:CBD (1:1) ในผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายที่รับเข้านอนโรงพยาบาลจำนวน 14 คน พบว่าผู้ป่วยที่มีอาการปวดระดับปานกลางถึงรุนแรงลดลงร้อยละ 50 (ผู้ป่วยจำนวน 4 รายไม่ต้องใช้ยาแก้ปวดในกลุ่มโอปิออยด์ในช่วงการศึกษา) ผู้ป่วยที่มีอาการนอนไม่หลับก่อนใช้ยาสกัดกัญชานอนหลับได้ทุกคน ผู้ป่วยร้อยละ 83 มีความอยากอาหารเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ พบอาการไม่พึงประสงค์จำนวน 6 คน ได้แก่ ปากแห้งคอแห้ง มีปัญหาควบคุมการเคลื่อนไหว ความสามารถในการรับรู้ลดลง หูแว่ว/ประสาทหลอน กรณีที่ใช้ยาสกัดกัญชาชนิด THC เด่นกับผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามจำนวน 63 คน โดยติดตามผลการรักษาครบ 30 วัน ระดับความรุนแรงของอาการที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ อาการปวด เหนื่อย/อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ซึมเศร้า วิตกกังวล เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ และกลุ่มอาการที่ไม่แตกต่างกัน ได้แก่ ง่วงซึม/สะลึมสะลือ สบายดีทั้งกายและใจ และเหนื่อยหอบ นอกจากนี้ พบว่าผู้ป่วยนอนหลับดีขึ้น (ร้อยละ 65.1) การลดความเจ็บปวด (ร้อยละ 50.8) และความอยากอาหารที่เพิ่มขึ้น (ร้อยละ 42.9) รวมถึงผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายมีคะแนนคุณภาพชีวิตสูงขึ้นภายหลังได้รับยาสกัดกัญชา อย่างไรก็ตามผลข้างเคียงพบได้ร้อยละ 19.1 ส่วนใหญ่เป็นอาการไม่รุนแรง ได้แก่ ปากแห้ง/ คอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน และเวียนศีรษะ
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์สารกัญชาทางการแพทย์ได้ประโยชน์ เนื่องจากมีหลักฐานทางวิชาการที่มีคุณภาพสนับสนุนชัดเจน ได้แก่ 1. ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด 2. โรคลมชักที่รักษายาก และโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา 3. ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง 4.ภาวะปวดประสาทส่วนกลาง 5. ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วย AIDS ที่มีน้ำหนักตัวน้อย 6. การเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง หรือผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต ซึ่งให้เป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ และมีการตัดสินใจร่วมกันกับผู้ป่วยและญาติ
*************************-ขอขอบคุณ- 19 พฤษภาคม 2566 #กัญชาทางการแพทย์