รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยปู่เย็น เป็นผู้สูงอายุไทย 1 ใน 4,000 คน ที่มีอายุเกิน 100 ปี ผลการตรวจสุขภาพผู้สูงอายุในรอบ 10 ปีมานี้ พบเกือบร้อยละ 70 ของกลุ่มอายุ 60-69 ปี มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ที่พบมากได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ข้อเสื่อม โดยอายุยิ่งมากยิ่งพบโรคมาก เร่งจัดระบบดูแลส่งเสริมสุขภาพครบทุกตำบล ตั้งชมรมผู้สูงอายุ ให้วัดเป็นจุดรวมในการทำกิจกรรม ชะลอความเสื่อมร่างกาย ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเสียชีวิตของปู่เย็น อายุ 108 ปีว่า ปู่เย็นถือว่าเป็นตัวอย่างของผู้สูงอายุชายที่มีอายุยืนยาว โดยผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมหิดลล่าสุดในปี 2550 พบทั่วประเทศมีผู้สูงอายุ 6,824,000 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 100 ปีหรือเรียกว่า ศตวรรษิกชน จำนวน 4,000 คน และอายุขัยเฉลี่ยของคนไทยหลังอายุ 60 ปี ชายอายุ 79.1 ปี ส่วนหญิง 81.5 ปี ซึ่งผู้ชายมีแนวโน้มอายุสั้นกว่าผู้หญิงเนื่องจากมีพฤติกรรมเสี่ยงสูงกว่าทั้งเรื่องอุบัติเหตุจราจร การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ร.ต.อ.ดร.เฉลิม กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ จากการตรวจสุขภาพสุขภาพผู้สูงอายุครั้งล่าสุดในปี 2541 โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พบผู้สูงอายุอายุ 60-69 ปี เป็นโรคเรื้อรังประจำตัวร้อยละ 69 และเพิ่มเป็นร้อยละ 83 ในกลุ่มอายุ 90 ปีขึ้นไป และยังพบป่วยเป็นโรคเรื้อรัง 6 โรคพร้อมกันร้อยละ 71 โรคเรื้อรังที่พบมากในผู้สูงอายุ ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ข้อเสื่อม ปวดข้อ ปวดหลัง ปัญหาทั้งหมดนี้มักเกิดมาสะสมตั้งแต่อายุ 45 ปี จึงต้องเร่งจัดระบบการดูแลผู้สูงอายุให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ร.ต.อ.ดร.เฉลิม กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายให้โรงพยาบาลทุกแห่งจัดช่องทางด่วนให้ผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยโดยเฉพาะ ไม่ต้องเสียเวลารอนาน และเชื่อมต่อไปยังชุมชนโดยจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุให้ครบทุกตำบล พัฒนารูปแบบการจัดบริการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุให้ผู้สูงอายุดูแลกันเองได้ และช่วยเหลือตนเองได้ เพื่อลดภาระโรคในระยะยาว รวมทั้งพัฒนาให้วัดเป็นศูนย์ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุและวัฒนธรรมประเพณี ทางด้านนายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้ให้ชุมชน หมู่บ้านจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุโดยมีกิจกรรมสุขภาพร่วมกัน เช่น ออกกำลังกาย กิจกรรมสันทนาการต่างๆ อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ส่งเสริมสุขภาพกายและจิต ชะลอความเสื่อมร่างกาย ขณะนี้มีแล้วเกือบ 10,000 ชมรม ครอบคลุมร้อยละ 93 ของตำบล มีสมาชิกกว่า 2 ล้านคน คาดว่าจะครบทุกตำบลในปีหน้า จากนั้นจะขยายให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน การมีชมรมผู้สูงอายุจะช่วยให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแล ส่งเสริมสุขภาพทั้งกายและใจ รวมทั้งเป็นคลังสมองถ่ายทอดภูมิปัญญาต่างๆ ไปสู่คนรุ่นใหม่ด้วย ในปี 2551 กรมอนามัยได้พัฒนารูปแบบการจัดบริการดูแลผู้สูงอายุ โดยจัดโครงการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาวในชุมชนทั้งที่ป่วยและยังไม่ป่วย นำร่องใน 12 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ตราด สระบุรี เพชรบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น ศรีสะเกษ นครสวรรค์ สุโขทัย เชียงราย สุราษฎร์ธานีและสตูล ผู้สูงอายุจะได้รับการตรวจหาเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ประเมินภาวะอ้วน ตรวจคัดกรองภาวะสมองเสื่อม ซึ่งเป็นโรคที่พบมาก เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างโรงพยาบาล สถานีอนามัย และอสม. จะประเมินผลปลายปีนี้ หากได้ผลดีก็จะใช้เป็นต้นแบบขยายผลทั่วประเทศต่อไป


   
   


View 6    13/10/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ