อธิบดีกรมควบคุมโรค ติดตามการควบคุมป้องกันโรคชิคุนกุนยา ที่นราธิวาส เผยขณะนี้พบผู้ป่วยใน 2 จังหวัด คือนราธิวาสและปัตตานีรวม 170 ราย ไม่มีเสียชีวิต แนวโน้มผู้ป่วยรายใหม่ลดลง แจ้งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเฝ้าระวัง ให้เร่งทำลายลูกน้ำยุงลายทุก 7 วัน และได้แลกเปลี่ยนข้อมูลให้องค์การอนามัยโลกทราบแล้ว วันนี้ (13 ตุลาคม 2551) หม่อมหลวงนายแพทย์สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยนายแพทย์ศิริชัย ลีวรรณนภาใส นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาสและคณะ เดินทางไปติดตามปัญหาการแพร่ระบาดของโรคชิคุนกุนยา (Chikungunya) ที่จ.นราธิวาส หลังพบมีผู้ป่วยที่ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ และชี้แจงว่า ขณะนี้กรมควบคุมโรคได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ควบคุมโรคสกัดการแพร่ระบาดโรคชิคุนกุนยา โดยระดม อสม.ในพื้นที่ที่มีผู้ป่วย กำจัดลูกน้ำยุงลายทั้งในบ้านและรอบๆบ้าน ในสวนทุก 7 วัน พ่นหมอกควันเคมีทำลายยุงตัวแก่ทั้งตำบล ติดต่อกันทุกสัปดาห์ สถานการณ์โรคดีขึ้น มีผู้ป่วยรายใหม่น้อยลง ตั้งแต่เดือนกันยายน 2551 ถึงวันที่ 12 ตุลาคม 2551 พบรายงานผู้ป่วยรวมทั้งหมด 170 ราย ใน 2 จังหวัด คือนราธิวาส ใน 3 อำเภอ ได้แก่ ยี่งอ 99 ราย เจาะไอร้อง 9 ราย และอ.แว้ง 44 ราย และพบที่อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี จำนวน 18 ราย ไม่มีเสียชีวิต อย่างไรก็ตามได้แจ้งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ เฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝน ทำให้ปริมาณยุงลายมีมากขึ้น และแจ้งโรงพยาบาล สถานีอนามัยทั่วประเทศ สังเกตอาการผู้ป่วยหากพบมีไข้สูง ร่วมกับอาการผื่น และมีอาการปวดข้อต่างๆ ซึ่งเป็นอาการเฉพาะของโรคนี้ ขอให้นึกถึงว่าเป็นโรคชิคุกุนยา เพื่อให้การดูแลอย่างถูกต้อง จากการวิเคราะห์ลักษณะอาการของผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยา พบว่า ร้อยละ 70 ของผู้ป่วยทั้งหมด จะมีไข้สูงร้อยละ70 มีผื่นแดง โดยร้อยละ 85 ปวดตามข้อ และอีกร้อยละ 40 มีอาการบวมที่ข้อ ส่วนใหญ่จะเป็นในผู้ใหญ่ พบในเด็กน้อย โรคนี้ทำให้เสียชีวิตได้น้อยมาก เนื่องจากไม่ทำให้เกิดอาการช็อค แต่ต้องระวังเป็นพิเศษในกลุ่ม ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ได้แก่ โรคหัวใจ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต จะให้อาการรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยจะนอนซม เพราะปวดข้อ เดินไม่ไหว โรคนี้เป็นแล้วจะมีภูมิต้านทาน ไม่เป็นซ้ำอีก ต่างจากโรคไข้เลือดออกที่เป็นแล้วอาจเป็นอีกครั้งได้ สำหรับสถานการณ์ทั่วโลก ในปีนี้องค์การอนามัยโลกรายงานว่าในเอเซียพบในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ไทยเป็นประเทศที่ 3 จากรายงานของไทยพบผู้ป่วยครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2538 ที่จ.หนองคายและนครศรีธรรมราช โดยไทยได้รายงานการระบาดครั้งใหม่ ให้องค์การอนามัยโลกทราบแล้วเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลให้ประเทศที่มีปัญหาโรคชิกุนกุนยาได้ร่วมเรียนรู้การป้องกันและควบคุมโรคตามข้อตกลงความร่วมมือแก้ปัญหาสาธารณสุขและกฎอนามัยระหว่างประเทศ ทั้งนี้ หากมีผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยาในบ้าน ขอให้ผู้ป่วยนอนในมุ้ง ป้องกันไม่ให้ยุงลายไปกัดได้ ซึ่งเชื้อโรคนี้จะแพร่ขณะที่มีไข้สูง เมื่อมีไข้สูง ให้เช็ดและกินยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ ห้ามกินยาแอสไพรินลดไข้เป็นอันขาด เนื่องจะทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ง่าย การป้องกันไม่ให้ป่วย ประชาชนต้องไม่ให้ยุงกัด สวมเสื้อกางเกงขายาวเวลาเข้าสวน หรือทายากันยุงเช่นตะไคร้หอม ที่สำคัญที่สุดก็คือต้องร่วมกันการทำลายลูกน้ำยุงลายทั้งในบ้านและในสวนทุกบ้าน ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ 2 โรค คือ ไข้เลือดออกและโรคชิกุนกุนยาได้ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว


   
   


View 6    13/10/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ