ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา วิตกการระบาดของโรคไข้เลือดออก ระบุผู้ที่เคยป่วยไข้เลือดออกสามารถป่วยซ้ำได้อีกหากติดเชื้อต่างสายพันธุ์ เผยรอบ 3 ทศวรรษ ประเทศกำลังพัฒนามีผู้ป่วยไข้เลือดออกมากถึง 50 ล้านคน ย้ำการควบคุมยุงลายที่ได้ผล ต้องใช้การมีส่วนร่วมของชุมชน มีสาธารณสุข โรงเรียน และชุมชนเป็นเครือข่ายร่วมมือกัน จะยั่งยืนและต่อเนื่อง
ศ.นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค ในฐานะประธานคณะกรรมการด้านวิชาการ การประชุมไข้เลือดออกนานาชาติ ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-17 ตุลาคม 2551 ที่โรงแรมฮิลตัล อาคาเดีย รีสอร์ทแอนสปา จ.ภูเก็ต ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าในการประชุม ว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาไข้เลือดออกแสดงความวิตก เรื่องการระบาดของโรคไข้เลือดออกที่เพิ่มมากขึ้นในรอบ 30 ปีผ่านมา พบมีผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแต่ละปีมีผู้ป่วยมากถึง 50 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา สาเหตุการระบาดที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของประชากรในเขตเมืองอย่างรวดเร็ว ภาวะโลกร้อน การเดินทางขนส่งทางอากาศระหว่างทวีปที่รวดเร็ว นโยบายที่ไม่จริงจังต่อเนื่อง และขาดมาตรการควบคุมยุงลายนำโรคที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน
สำหรับความก้าวหน้าในการพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออก ปัจจุบันมีบริษัทวัคซีน 2 แห่งที่อยู่ระหว่างเตรียมการทดลองระยะที่ 2 ในประเทศไทย คาดว่าจะเริ่มดำเนินการทดลองได้ในปีหน้านี้ อย่างไรก็ตาม ความหวังในการที่จะมีวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกใช้คงต้องรออีกอย่างน้อย 5-10 ปี กว่าจะมีวัคซีนขายในท้องตลาด วิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคไข้เลือดออกในขณะนี้ก็คือ กำจัดลูกน้ำในบ้านเรือนและบริเวณโดยรอบ ไม่ปล่อยให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย และป้องกันยุงลายกัด
ศ.นายแพทย์ประเสริฐ กล่าวต่อไปว่า วัคซีนไข้เลือดออกเป็นวัคซีนที่ใช้เวลาพัฒนาค่อนข้างนาน เนื่องจากไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์ ซึ่งแตกต่างจากวัคซีนป้องกันโรคจากเชื้อไวรัสตัวอื่นๆ ดังนั้น การพัฒนาให้วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ วัคซีนต้องทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเกิดโรคได้ครบทั้ง 4 สายพันธุ์ ซึ่งต้องฉีดอย่างน้อย 2-3 เข็ม ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาหาระยะห่างของการฉีดในแต่ละเข็มในเด็กวัยเรียนที่เป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อและป่วยมากที่สุด
ทั้งนี้ เชื้อไวรัสเด็งกี่ที่ทำให้เกิดไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์ ซึ่งในประเทศไทยถือว่าเป็นโรคประจำถิ่น มีครบทุกสายพันธุ์ การติดเชื้อสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่ง จะทำให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานสำหรับสายพันธุ์นั้นได้ตลอดชีวิต แต่ป้องกันสายพันธุ์อื่นได้ไม่เกิน 1 ปี ดังนั้น คนคนหนึ่งสามารถติดเชื้อสายพันธุ์ที่เหลือได้ และการติดเชื้อครั้งที่ 2 นี้ มักเกิดอาการที่รุนแรงมากกว่าการติดเชื้อครั้งแรก ดังนั้น แม้ว่าเคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน ก็สามารถเป็นซ้ำได้หากไม่ได้ป้องกันยุงลายกัด และควบคุมทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่เป็นภาชนะใส่น้ำ หรือภาชนะที่มีน้ำขังในบ้านและบริเวณรอบบ้าน โดยศาสตราจารย์ไบรอัน เคย์ (Brian Kay) นักวิจัยจากประเทศเวียดนาม รายงานความสำเร็จของโครงการควบคุมยุงลายนำโรคไข้เลือดออก โดยอาศัยวิธีสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนที่ยั่งยืนและต่อเนื่อง มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โรงเรียน และชุมชนเป็นเครือข่ายร่วมมือกัน มีการเก็บข้อมูลในชุมชนที่ศึกษาอย่างต่อเนื่องทุกหลังคา โดยในโครงการมีการใส่ไรน้ำ (Mesocyclops) ในภาชนะน้ำใช้ เพื่อควบคุมประชากรลูกน้ำยุงลาย ซึ่งพบว่าได้ผลดี มีความคุ้มค่าในการลงทุน โดยเสียค่าใช้จ่ายในการป้องกันการเกิดโรคในผู้ป่วยเพียง 1.2-1.5 ดอลล่าร์ หรือ 40-50 บาทต่อคนต่อปี
****************************** 17 ตุลาคม 2551
View 11
17/10/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ