รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบนโยบายให้กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เร่งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทย เป็นทางเลือกในการรักษา ควบคู่กับการแพทย์แผนปัจจุบัน ในปีงบประมาณ 2552 นี้ กำลังศึกษาสมุนไพร 5 ชนิด คือ เถาวัลย์เปรียง เพชรสังฆาต บัวบก มะระขี้นก และยาตำรับสหัศธารา ในโรงพยาบาล 5 แห่งเพื่อบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ รู้ผลอีก 1-2 ปีนี้
ร้อยตำรวจเอก ดร.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ว่า ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เร่งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทย ให้ประชาชนเข้าใจ รวมทั้งส่งเสริมให้เป็นทางเลือกในการรักษาควบคู่กับการแพทย์แผนปัจจุบัน
ทั้งนี้ จากการสำรวจความนิยมใช้บริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งขณะนี้มีครอบคลุมแล้วร้อยละ 90 พบว่าบริการที่ประชาชนเลือกใช้มากเป็นอันดับ 1 คือ การนวด ซึ่งได้ผลดี ไม่ต้องกินยาแก้ปวด ส่วนการใช้ยาสมุนไพร ยังได้รับความนิยมน้อยมาก มีมูลค่าการใช้ยาสมุนไพรไม่ถึงร้อยละ 1 เมื่อเปรียบเทียบกับยาแผนปัจจุบัน ต้องเร่งส่งเสริมการวิจัย พัฒนายาสมุนไพรไทยให้ได้มาตรฐานจีเอ็มพี และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้จักอย่างแพร่หลาย ตั้งเป้าผลักดันยาไทยและยาสมุนไพร บรรจุเข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติให้มากขึ้นจากเดิม 19 รายการ เป็น 100 รายการให้ได้ภายใน 5 ปีนี้
ด้านนายแพทย์นรา นาควัฒนานุกูล อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ในปี 2552 กรมพัฒน์ฯ ได้รับจัดสรรงบประมาณ 368 ล้านบาทเศษ ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาการใช้ยาจากสมุนไพร 5 ชนิด ได้แก่ เถาวัลย์เปรียง แก้ปวดเมื่อย เพชรสังฆาต แก้โรคริดสีดวงทวาร บัวบก สำหรับรักษาแผลในผู้ป่วยเบาหวาน มะระขี้นก และยาตำรับสหัศธารา เป็นยาบรรเทาอาการปวดใช้ทดแทนยาพาราเซตามอลและยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่มีสเตียรอยด์ เพื่อเตรียมบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยศึกษาในโรงพยาบาล 5 แห่ง ได้แก่ รพ.บางกระทุ่ม รพ.อู่ทอง รพ.พล รพ.หาดใหญ่ และรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ จะทราบผลในปี 1-2 ปีนี้ ซึ่งยาไทยและยาสมุนไพรเหล่านี้จะลดการนำเข้ายาต่างประเทศได้ โดยเฉพาะยาตำรับสหัศธาราอย่างเดียว จะทดแทนการนำเข้ายาแก้ปวดได้ปีละกว่า 10,000 ล้านบาท
นายแพทย์นรา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้กรมพัฒน์ฯ จะจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทย ในปีหน้าอีก 9 แห่ง คือที่จังหวัดเชียงใหม่ ระนอง ภูเก็ต ราชบุรี นครปฐม ชลบุรี ปราจีนบุรี นนทบุรี กรุงเทพฯ และจะพัฒนาการผลิตยาสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สุขภาพให้ได้มาตรฐานจีเอ็มพี ในโรงพยาบาล 7 แห่ง ได้แก่ รพ.บางกระทุ่ม รพ.อู่ทอง รพ.พล รพ.พิชัย รพ.กุดชุม รพ.ท่าฉาง และรพ.วังน้ำเย็น เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในคุณภาพยิ่งขึ้น
********************************************* 19 ตุลาคม 2551
View 11
19/10/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ