รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งการกรมควบคุมโรค ช่วยทหารไทยที่ลาดตะเวนแนวชายแดนบริเวณเขาพระวิหาร ป้องกันโรคไข้มาลาเรีย โดยจะมอบมุ้งชุบน้ำยาไพรีทรอยด์ 100 หลัง และยาทากันยุง 3,000 ขวด สถานการณ์มาลาเรียทั่วประเทศ มีผู้ป่วยแล้วกว่า 20,000 ราย เสียชีวิต 40 ราย แนะแต่งกายมิดชิด ทายากันยุง นอนในมุ้ง หากมีไข้สูง หนาวสั่นเป็นเวลา ให้รีบไปพบแพทย์
จากกรณีที่มีรายงานข่าวว่า พบทหารที่ลาดตระเวนบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ด้านอำเภอกันทรลักษณ์จังหวัดศรีสะเกษ ป่วยด้วยโรคไข้มาลาเรียหรือไข้ป่า เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลกันทรรักษ์ จำนวนกว่า 40 คนนั้น ความคืบหน้าในเรื่องนี้ ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ได้สั่งการให้อธิบดีกรมควบคุมโรคตรวจสอบข้อมูล และให้การช่วยเหลือทหารไทยที่ปฏิบัติหน้าที่ตามแนวชายแดนบริเวณเขาพระวิหาร ที่ป่วยเป็นโรคไข้มาลาเรียอย่างเต็มที่ และหามาตรการป้องกันไม่ให้ทหารป่วย เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าทึบ เป็นแหล่งเพาะพันธ์ยุงก้นปล่อง ประชาชนรวมทั้งทหารที่เข้าไปในป่ามีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะป่วยเป็นโรคนี้
ในเบื้องต้น กระทรวงสาธารณสุข จะมอบมุ้งชุบน้ำยาไพรีทรอยด์ ซึ่งมีคุณสมบัติป้องกันยุง ทำให้ยุงที่เกาะมุ้งและสัมผัสน้ำยาเป็นอัมพาตและตาย แต่ไม่เป็นพิษต่อคน ให้หน่วยทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ที่อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 100 หลัง และมอบยาทากันยุง จำนวน 3,000 ขวด เพื่อใช้ป้องกันโรคไข้มาลาเรีย โดยจะประสานมอบให้หน่วยทหารในพื้นที่โดยตรงในเร็วนี้ๆ
ทางด้านนายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลที่อำเภอกันทรลักษณ์ ในปีนี้พบผู้ป่วยเข้ารักษาที่โรงพยาบาลกันทรลักษณ์ 29 ราย รักษาหายทุกราย ในภาพรวมทั่วประเทศ ในปี 2551 นี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ตุลาคม 2551 พบผู้ป่วย 22,381 ราย เสียชีวิต 40 ราย จังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด ได้แก่ ตาก ยะลา นราธิวาส แม่ฮ่องสอน ระนอง กาญจนบุรี ชุมพร สงขลา ประจวบคีรีขันธ์ และจันทบุรี พื้นที่ที่พบมาลาเรียเกือบทั้งหมด จะเป็นบริเวณป่าเขาชายแดนของประเทศ โดยเฉพาะบริเวณชายแดนไทย-พม่า และไทย-กัมพูชา พบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี แต่จะพบมากในช่วงฤดูฝน
อาการที่สำคัญของผู้ป่วยมาลาเรีย จะป่วยหลังถูกยุงก้นปล่องกัดประมาณ 10-14 วัน โดยจะมีไข้สูง หนาวสั่น จับไข้เป็นเวลา หรือไข้วันเว้นวัน ขอให้รีบพบแพทย์ทันที มียากินรักษาหายขาด การป้องกันโรคมาลาเรียที่ดีที่สุดคือ อย่าให้ยุงกัด โดยสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด ทายากันยุง กลางคืนนอนในมุ้ง
ด้านการรักษา ขณะนี้กรมควบคุมโรค ได้ปรับดูแลรักษาเชิงรุกลงถึงหมู่บ้าน เนื่องจากโรคนี้เกิดในพื้นที่ชนบทตามป่าเขาได้จัดตั้งหน่วยมาลาเรียประมาณ 300 แห่ง และมาลาเรียคลินิกอีก 500 แห่งทั่วประเทศ ที่สามารถตรวจวินิจฉัย และรักษาตรงกับชนิดของเชื้อในพื้นที่ได้ ไม่จำเป็นต้องมารักษาที่โรงพยาบาล ทั้งนี้ ผู้ป่วยมาลาเรียทุกรายต้องรับประทานยาต่อเนื่องกันครบตามแพทย์สั่ง เพื่อป้องกันเชื้อดื้อยา ซึ่งขณะนี้มีแนวโน้มเชื้อดื้อยาสูงตามแนวชายแดน
**************************************** 21 ตุลาคม 2551
View 9
21/10/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ