ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มอบนโยบายให้ทุกจังหวัดเร่งสกัดการแพร่ระบาดของวัณโรคที่พบรายใหม่ปีละ 90,000 ราย เน้นออกค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ทุกพื้นที่เข้ารักษาและกินยาครบสูตร 6 เดือน ให้เป็นตัวชี้วัดการทำงานของจังหวัดในปี 2552 คาดใน 7 – 10 ปีข้างหน้า จะลดผู้ป่วยรายใหม่ลงได้ร้อยละ 50 วันนี้ (22 ตุลาคม 2551) ที่โรงแรมสีมาธานี อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมแพทย์ พยาบาล เภสัชกร เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย อสม. เจ้าหน้าที่ที่ดูแลงานเอดส์และวัณโรค เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการในจังหวัดนครราชสีมา สุรินทร์ ชัยภูมิ และบุรีรัมย์ จำนวน 520 คน เพื่อพัฒนาระบบการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของวัณโรคและโรคเอดส์ และเยี่ยมชมการดำเนินงานป้องกันควบคุมวัณโรคของทัณฑสถานหญิงนครราชสีมา อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า ขณะนี้วัณโรคกำลังกลับมาเป็นปัญหาใหม่ทั่วโลก โดยเฉพาะวัณโรคปอดซึ่งสามารถแพร่เชื้อสู่คนอื่นได้ง่าย องค์การอนามัยโลกจัดไทยเป็นประเทศที่มีผู้ป่วยมากในอันดับที่ 18 จาก 22 ประเทศทั่วโลก คาดการณ์ว่าในปี 2551 ไทยมีผู้ป่วยรายใหม่ 90,000 ราย ในจำนวนนี้อยู่ในระยะแพร่เชื้อประมาณ 40,000 ราย เสียชีวิตปีละ 13,000 ราย การระบาดของวัณโรคครั้งใหม่นี้เกี่ยวข้องกับโรคเอดส์ โดยพบว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีเสี่ยงเป็นวัณโรคร้อยละ 50 ส่วนคนทั่วไปเสี่ยงร้อยละ 5-10 ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข 2 ประการก็คือ ต้องเร่งค้นหาผู้ป่วยเข้ารักษาให้มากที่สุด และกินยารักษาให้หายขาดครบตามสูตร “ในรอบ 10 ปีนี้ พบอัตราความสำเร็จการรักษา คือผู้ป่วยวัณโรคกินยาครบสูตร 6 เดือนจนหายขาด ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้คือร้อยละ 85 โดยปี 2549 มีอัตราความสำเร็จร้อยละ 78 อัตราขาดการรักษาร้อยละ 6 ทำให้วัณโรคในไทยยังคงแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนปี 2550 มีผู้ป่วยรายใหม่เข้ารับการรักษาประมาณร้อยละ 65 ของผู้ป่วยทั้งหมด ในจำนวนนี้ติดเชื้อเอดส์ร่วมด้วยร้อยละ 11” นายแพทย์ปราชญ์กล่าว นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า ในการแก้ไขปัญหาวัณโรค ตั้งแต่ตุลาคม 2551 เป็นต้นไป มีนโยบายให้ทุกจังหวัดเร่งค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ให้ได้ร้อยละ 70 ของผู้ป่วยระยะแพร่เชื้อ เน้นหนักในชุมชนแออัด เรือนจำ กลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ติดเชื้อเอดส์ เพื่อนำเข้าระบบการรักษาให้กินยาต่อเนื่องครบ 6 เดือน ให้ได้มากกว่าร้อยละ 85 และจัดบริการปรึกษา ตรวจหาเชื้อเอชไอวีในผู้ป่วยวัณโรคทุกราย ถือเป็นตัวชี้วัดการทำงานของจังหวัดในปี 2552 ให้ผู้ตรวจราชการติดตามกำกับทุกเดือน มั่นใจว่าภายใน 7–10 ปี จะลดผู้ป่วยรายใหม่ให้เหลือไม่เกินปีละ 45,000 ราย โดยจะประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศในวันที่ 27 ตุลาคมนี้ ด้านนายแพทย์ยุทธิชัย เกษตรเจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ป่วยวัณโรคกว่าร้อยละ 85 เป็นวัณโรคปอด ซึ่งติดต่อกันได้ง่ายโดยฝอยละอองเสมหะจากการไอจาม ผู้ป่วยวัณโรคจะมีไอเรื้อรังนานกว่า 2 สัปดาห์ มีไข้ต่ำๆในช่วงบ่ายหรือเย็น เหงื่อออกตอนกลางคืน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ผู้ที่มีอาการดังกล่าวขอให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาโดยเร็ว และต้องกินยาอย่างต่อเนื่องครบสูตร 6 เดือน เพื่อไม่ให้เชื้อดื้อยา ซึ่งจะทำให้การรักษายุ่งยาก ต้องใช้ยาแรงขึ้นและเวลานานขึ้น หากยังขาดยาซ้ำเชื้อจะดื้อยาทุกชนิด รักษาไม่ได้ อัตราตายสูงถึงร้อยละ 85 ในปี 2549 พบเชื้อวัณโรคดื้อยาหลายขนานในผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ ร้อยละ 1.6 ทั้งนี้ ในปี 2550 พบผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ติดเชื้อเอชไอวี ร้อยละ 14 ส่วนในกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี พบว่าป่วยเป็นวัณโรคร่วมด้วยร้อยละ 25 ซึ่ง 2 กลุ่มนี้หากไม่ได้รับการรักษาจะมีอัตราตายสูงถึงร้อยละ 28 ทางด้านนายแพทย์วิชัย ขัตติยวิทยากุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ขณะนี้จังหวัดนครราชสีมา กำลังระดมอาสาสมัครสาธารณสุขช่วยค้นหาผู้ป่วยวัณโรคทั้งจังหวัด ทุกหมู่บ้าน/ชุมชน จากประชากรทั้งหมด 2 ล้าน 6 แสนคน ในการควบคุมป้องกันโรคในเรือนจำ มีการจัดหน่วยแพทย์พยาบาลหมุนเวียนไปตรวจรักษาโรคที่เรือนจำทั้ง 7 แห่ง โดยอยู่ที่ อ.เมือง 1 แห่ง อ.บัวใหญ่ 1 แห่ง และ อ.สีคิ้ว 5 แห่ง สำหรับในทัณฑสถานหญิงนครราชสีมา มีผู้ต้องขัง 2,381 คน มีการตรวจเสมหะผู้ต้องขังรายใหม่ทุกราย และตรวจซ้ำทุก 6 เดือน โดยมีอาสาสมัครเรือนจำเป็นผู้ติดตามสังเกตอาการและดูแลการกินยาร่วมกับพยาบาลประจำเรือนจำ ในปี 2551 พบผู้ป่วย 14 ราย ได้ให้ยากินรักษาและแยกออกจากผู้ต้องขังอื่นเป็นเวลา 6 เดือนจนหายขาด ส่วนผู้ต้องขังที่ย้ายเรือนจำหรือพ้นโทษ แต่ยังกินยาไม่ครบ จะมีระบบการติดตามต่อเนื่อง ทั้งนี้ ผลการตรวจหาวัณโรครายใหม่ในเรือนจำ 5 แห่งของ อ.สีคิ้ว พบทั้งหมด 55 คน จากผู้ต้องขังทั้งหมด 7,975 คน ผลการรักษากินยาครบ 6 เดือนตามสูตรร้อยละ 82 ************************************ 22 ตุลาคม 2551


   
   


View 6    22/10/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ