กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสถาบันพัฒนาสาธารณสุขอาเซียน ศึกษาวิจัยระบบบริการฝากครรภ์คุณภาพและคลินิกเด็กดีคุณภาพ ลดปัญหาการตายของแม่และเด็กแรกเกิด เด็กน้ำหนักตัวน้อย นำร่องปีนี้ที่จังหวัดลพบุรี เชียงราย มหาสารคาม นครศรีธรรมราช และในโรงพยาบาลศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยใน 12 จังหวัด พร้อมขยายผลใช้ครอบคลุมสถานพยาบาลทั่วประเทศในปี 2553 นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งพัฒนา “โรงพยาบาลสายใยรักแห่งครอบครัว” สนองแนวพระดำริพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ที่ทรงเห็นคุณค่าของครอบครัวและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยพัฒนาระบบบริการในคลินิกฝากครรภ์ ห้องคลอด หลังคลอด และคลินิกเด็กดีให้ได้มาตรฐาน ดูแลคู่สมรสตั้งแต่เริ่มวางแผนมีลูกจนถึงหลังคลอด เพื่อให้แม่และลูกปลอดภัย และส่งเสริมการเลี้ยงดูด้วยนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อสร้างความรักความผูกพันระหว่างแม่ลูก ให้ลูกได้รับสารอาหารที่ดีที่สุด มีสุขภาพแข็งแรงพัฒนาการสมวัย ไอคิวเท่ามาตรฐานสากลคือไม่ต่ำกว่า 100 จุด ขณะนี้มีโรงพยาบาลรัฐและเอกชนเข้าร่วมโครงการ 973 แห่งหรือร้อยละ 90 ของโรงพยาบาลทั้งหมด ตั้งเป้าครบทุกแห่งภายใน พ.ศ. 2552 โดยได้ให้กรมอนามัยศึกษาวิจัยการพัฒนาระบบบริการฝากครรภ์คุณภาพและคลินิกเด็กดีคุณภาพ ร่วมกับสถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มปีนี้ที่จังหวัดลพบุรี เชียงราย มหาสารคาม นครศรีธรรมราช และโรงพยาบาลศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ/ศูนย์อนามัยในพื้นที่ 12 จังหวัด เพื่อให้ได้ต้นแบบที่จัดบริการได้ตามเป้าหมาย และขยายผลในโรงพยาบาลทุกแห่งในปี 2553 ซึ่งจะทำให้ระบบบริการแม่และเด็กของไทยได้มาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ นายวิชาญกล่าว ด้านนายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในการวิจัยพัฒนาคุณภาพบริการฝากครรภ์ครั้งนี้ จะให้โรงพยาบาลทุกแห่งคัดกรองความเสี่ยงของแม่ ทั้งการป้องกันการคลอดติดขัด การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ การป้องกันโรคทางพันธุกรรมและการแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูก เช่น โรคธาลัสซีเมีย ภาวะขาดสารไอโอดีน การติดเชื้อเอชไอวี รวมทั้งให้คำปรึกษาการดูแลครรภ์และการเลี้ยงดูลูกอย่างต่อเนื่องในโรงเรียนพ่อแม่ ในรายที่พบปัญหาจะส่งรักษาต่อกับแพทย์เฉพาะทางเพื่อรับการรักษาทันที ส่วนการพัฒนาคลินิกสุขภาพเด็กดี จะศึกษาในสถานีอนามัยและโรงพยาบาลทุกระดับ เพื่อให้คัดกรองสุขภาพ และพัฒนาการเด็กได้ ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และให้คำแนะนำการเลี้ยงดูเด็กให้มีคุณภาพด้วยการอ่านหนังสือ เล่านิทาน เล่นกับลูก และใช้ของเล่นให้ตรงตามอายุและพัฒนาการเด็ก ซึ่งจะกระตุ้นความฉลาดทางสติปัญญาและทางอารมณ์ รวมทั้งลดอัตราป่วยจากโรคติดเชื้อ เช่น ท้องเสีย ปอดบวม และอุบัติเหตุต่างๆ ที่เป็นสาเหตุการตายของเด็ก นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า แม้ว่าในรอบ 5 ปีมานี้ สถานการณ์การตายของทารกอายุต่ำกว่า 1 ปีของไทยจะมีแนวโน้มลดลงและเป็นไปตามเป้าหมายที่กระทรวงฯกำหนดคือไม่เกิน 16.7 รายต่อเด็กแรกเกิดมีชีวิตทุก 1,000 คน แต่เนื่องจากขณะนี้ไทยมีอัตราการเพิ่มของประชากรน้อยมาก เพียงร้อยละ 0.4 ต่อปี จึงต้องเร่งพัฒนาระบบการฝากครรภ์ การคลอด การดูแลเด็กหลังคลอด โดยตั้งเป้าลดอัตราทารกแรกเกิดขาดออกซิเจนไม่เกิน 30 คนในเด็กแรกเกิดมีชีวิตทุก 1,000 คน ทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,500 กรัมให้ไม่เกินร้อยละ 7 หรือลดลงจากเดิมร้อยละ 0.5 ต่อปี เพิ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนให้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 หรือเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 2.5 ต่อปี และกระตุ้นให้เด็กแรกเกิด – 5 ปีมีพัฒนาการสมวัยไม่ต่ำกว่าร้อยละ90 ****************** 23 ตุลาคม 2551


   
   


View 7    23/10/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ