สาธารณสุข ร่วมกับสมาคมปราบวัณโรคฯ สมาคมอุรเวชช์ฯ และสมาคมสภาองค์กรโรคหืดฯ อบรมแพทย์ให้รักษาผู้ป่วยวัณโรคให้หายขาด 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นไม้ตายที่จะหยุดยั้งการแพร่โรคนี้ได้สำเร็จ ล่าสุดองค์การอนามัยโลกประกาศให้วัณโรคเป็นภาวะฉุกเฉิน ทั่วโลกมีผู้ป่วยวัณโรคประมาณ 14 ล้านคน ร้อยละ 50 เป็นกลุ่มที่กำลังแพร่เชื้อ ส่วนไทยพบวัณโรคดื้อยาหลายขนาน ดื้อยารุนแรง เสียค่ารักษาแพงกว่าปกติถึง 100 เท่าตัว เช้าวันนี้ (29 ตุลาคม 2551) ที่โรงแรมตะวันนา กทม. นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการอบรมระยะสั้นแก่แพทย์บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลในสังกัด และโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ จำนวน 400 คน เรื่องการดูแลรักษาผู้ป่วยโรควัณโรคและโรคติดต่ออื่นๆ จัดโดยสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย และสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย เพื่อฟื้นฟูความรู้และการรักษาโรควัณโรคที่หวนกลับมาระบาดใหม่ในไทยและทั่วโลกในขณะนี้ นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า สถานการณ์วัณโรคในปัจจุบันมีความรุนแรงมากขึ้น องค์การอนามัยโลกรายงานว่าขณะนี้ประชากรโลก 1 ใน 3 ติดเชื้อวัณโรค และมีผู้ป่วยประมาณ 14 ล้านกว่าคน ในจำนวนนี้ร้อยละ 50 เป็นกลุ่มที่กำลังแพร่เชื้อ แต่ละปีมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 9 ล้านคน ร้อยละ 95 อยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา และเสียชีวิตปีละเกือบ 2 ล้านคน ร้อยละ 98 อยู่ในประเทศยากจน สำหรับไทยเป็น 1 ใน 22 ประเทศในโลกที่ยังมีผู้ป่วยวัณโรคชุกมาก คาดการณ์มีผู้ป่วยวัณโรคที่อยู่ในระยะแพร่เชื้อปีละ 40,000 ราย เสียชีวิตปีละ 13,000 ราย นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อไปว่า สาเหตุที่ทำให้วัณโรคกลับมาเป็นปัญหาใหม่ทั่วโลก มาจาก 4 ปัจจัยสำคัญ คือการแพร่ระบาดของเอดส์ ความยากจน การอพยพย้ายถิ่นและแรงงานข้ามชาติ ทำให้การแพร่ระบาดของวัณโรคมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ประเทศไทยได้ดำเนินกิจกรรมผสมผสานงานวัณโรคและโรคเอดส์ควบคู่กัน เนื่องจากวัณโรคจะเป็นเชื้อโรคฉวยโอกาสที่เกิดในผู้ป่วยเอดส์สูงถึงร้อยละ 70 เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตมากที่สุด แต่ที่ผ่านมาผลสำเร็จของการรักษาหายขาดของไทยอยู่ที่ร้อยละ 78 ยังต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดคือมากกว่าร้อยละ 85 ปัญหาที่สำคัญของไทยคือ กลยุทธ์การให้ผู้ป่วยกินยาต่อหน้าหรือดอท (DOTS) ซึ่งต้องกินติดต่อกันทุกวันเป็นเวลา 180 วัน ไม่เข้มแข็ง ทำให้ผู้ป่วยขาดการรักษา กินยาไม่ครบสูตรสูงถึงร้อยละ 6 ก่อให้เกิดปัญหาเชื้อ วัณโรคดื้อยาหลายขนาน และดื้อยารุนแรงขึ้น ทำให้การรักษายุ่งยาก ต้องใช้ค่าแพงกว่าปกติถึง 100 เท่าตัว คือรายละไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท หากรักษาถูกต้องตั้งแต่แรกจะลงทุนเพียงรายละ 2,000 กว่าบาท ในปี 2549 ไทยพบผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ที่ติดเชื้อวัณโรคดื้อยาหลายขนานร้อยละ 1.6 หรือประมาณ 1,440 ราย และในปี 2550 คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล รายงานพบผู้ป่วยติดเชื้อวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรง จำนวน 13 ราย นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่ออีกว่า เพื่อไม่ให้วัณโรคเป็นปัญหาสาธารณสุขของไทย และทำให้ไทยหลุดจากรายชื่อพื้นที่ที่มีวัณโรคชุกใน 22 ประเทศของโลก ในปีนี้ได้ให้ทุกสถานพยาบาลดูแลรักษาผู้ป่วยให้กินยาครบสูตรครบ 100 เปอร์เซ็นต์ รักษาฟรีทุกราย หากรักษาผู้ป่วยหายขาดทุกราย ก็จะเป็นวิธีการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคนี้อย่างได้ผล นอกจากนี้ ให้ตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวทุกราย และเร่งรัดการตรวจเสมหะค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ให้ครอบคลุมเกินร้อยละ 70 ซึ่งมีหลายประเทศในภูมิภาคนี้ ที่ดำเนินการควบคุมวัณโรคก้าวหน้ากว่าประเทศไทย เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ จีน เป็นต้น *********************** 29 ตุลาคม 2551


   
   


View 6    29/10/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ