คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว เตรียมเสนอสภานิติบัญญัติ เพื่อออกเป็นกฎหมายแม่บทด้านสุขภาพของสังคมไทย สาระหลักของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ให้ความคุ้มครองข้อมูลสุขภาพเป็นความลับส่วนบุคคล ให้ภาครัฐเปิดเผยข้อมูลที่มีผลกระทบสุขภาพ และวิธีป้องกันให้ประชาชนรู้โดยเร็ว หนุนให้มีสมัชชาสุขภาพระดับพื้นที่ จะทำให้สุขภาพของประชาชนดีขึ้น นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ ว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2549 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และมีมติให้มีการปรับแก้ไขเพียงเล็กน้อย โดยให้ตัดบทบัญญัติที่ให้อำนาจในการตรากฎหมายจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลออกทั้งวรรค และให้นำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป นายแพทย์มงคลกล่าวต่อว่า กระบวนการจัดทำร่างพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติฉบับนี้ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2543 เพื่อเป็นกฎหมายแม่บทด้านสุขภาพของสังคมไทย วางทิศทางระบบสุขภาพที่เน้นการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเพื่อลดความเจ็บป่วยอย่างชัดเจน โดยเน้นการสร้างนโยบายและยุทธศาสตร์สุขภาพแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาควิชาการ วิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ภาคประชาชน ภาคการเมือง และภาคราชการ ซึ่งจะเป็นการยกระดับสุขภาพของคนไทยให้ดีขึ้น มีหลักประกันสุขภาพที่มีคุณภาพมาตรฐาน ทั้งนี้สาระสำคัญในร่างพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ที่สำคัญได้แก่ กำหนดให้ข้อมูลด้านสุขภาพเป็นความลับส่วนบุคคล ไม่สามารถนำไปเปิดเผยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากบุคคลนั้น ส่วนข้อมูลที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน หน่วยงานของรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลและวิธีป้องกันให้ประชาชนทราบโดยเร็ว กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นรองประธานกรรมการ มีคณะกรรมการ จากฝ่ายการเมือง ข้าราชการ วิชาการ วิชาชีพ และประชาชน รวม 37 คน โดยผ่านกระบวนการสรรหาจากคณะกรรมการที่ คสช. แต่งตั้งขึ้นตามกฎหมาย และจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ มีฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ รับผิดชอบงานธุรการ และมีคณะกรรมการบริหารรายได้ ซึ่งได้รับเงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นรายปีและรายได้อื่นตามกำหนด นอกจากนี้ กำหนดให้ คสช. มีหน้าที่จัดหรือสนับสนุนให้ประชาชนจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่ หรือเฉพาะประเด็น และจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในเรื่องการจัดการแก้ปัญหาและพัฒนาระบบสุขภาพ โดยจะมีการตรารัฐธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติเพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การดำเนินงานสุขภาพของประเทศ เสนอคณะรับมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาตินี้ จะทำให้สุขภาพของประชาชนไทยได้รับการคุ้มครองดูแลอย่างทั่วถึงทุกเพศ ทุกกลุ่มวัยอาชีพ คาดว่าจะมีผลใช้ในปีหน้านี้ พฤศจิกายน2/3 *********************************** 8 พฤศจิกายน 2549


   
   


View 12    08/11/2549   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ