องค์กรภาคีโลกไร้ควันบุหรี่ มอบรางวัลควบคุมบุหรี่ดีเยี่ยมประจำปี 2551 ให้ประเทศไทย สามารถปกป้องสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ได้สำเร็จ และในปี 2551-2552 องค์การอนามัยโลกได้ร่วมกับมูลนิธิบลูมเบิร์ก สนับสนุนเงินให้กระทรวงสาธารณสุขอีก 1 ล้านเหรียญสหรัฐ เดินหน้าสร้างครัวเรือนทั่วไทยปลอดบุหรี่ 100 เปอร์เซ็นต์ บ่ายวันนี้ (29 ตุลาคม 2551) ที่โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทารา แกรนด์ กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยในการแถลงข่าว การประชุมของสมาคมวิจัยการเสพติดนิโคตินและยาสูบภาคพื้นเอเชีย ครั้งที่ 1 ว่า ในปี 2551 นี้ องค์กรภาคีโลกไร้ควันบุหรี่ (The Global Smokefree Partnership Steering Group) ซึ่งเป็นองค์กรก่อตั้งเพื่อดำเนินการตามนโยบายรณรงค์คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ ได้มอบรางวัล จี เอส พี (Global Smokefree Partnership 2008 Award-GSP Extraordinary Award) ให้ประเทศไทย ในฐานะที่มีผลการดำเนินงานด้านการควบคุมยาสูบชัดเจนในระดับดีเยี่ยมของโลก ทำให้ประชาชนที่ไม่สูบบุหรี่ได้รับความปลอดภัยจากควันพิษในบุหรี่ เป็นการสนับสนุนนโยบายขององค์การอนามัยโลกให้ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม อยู่ในลำดับต้นๆ ของโลก นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยเป็น 1 ใน 40 ประเทศแรกๆ ของโลก ที่ร่วมลงสัตยาบันในการดำเนินงานตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก มาตรา 8 การป้องกันบุคคลจากการสูดดมควันยาสูบ และเป็นเพียง 1 ในไม่กี่ประเทศ ที่มีการดำเนินงานอย่างเข้มแข็งเป็นรูปธรรม โดยการออกพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 และเดินหน้าประกาศพื้นที่ปลอดบุหรี่อย่างต่อเนื่อง เริ่มจากพื้นที่สาธารณะ สถานที่ทำงาน ไปจนถึงผับ บาร์ สถานบันเทิงต่างๆ และตลาด จนถึงขณะนี้มีสถานที่ที่ประกาศให้เป็นเขตปลอดบุหรี่แล้ว 56 ประเภท สำหรับในปี 2551-2552 องค์การอนามัยโลก และมูลนิธิบลูมเบิร์ก (Bloomberg Foundation) ได้มอบเงินทุนจำนวน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 33 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขให้ดำเนินการในโครงการจัดเขตปลอดบุหรี่ 100 เปอร์เซ็นต์ของประเทศไทย (Towards 100% Smoke-free Environment Thailand) ซึ่งจะต้องมีการร่วมมือกับทุกภาคส่วนของสังคม สร้างความรู้ความตระหนักถึงพิษภัยของการสูบบุหรี่ รวมทั้งการสูดดมควันบุหรี่มือสอง เพื่อเพิ่มจำนวนผู้เลิกสูบบุหรี่และลดนักสูบหน้าใหม่ ขณะเดียวกันก็เร่งขยายสถานที่ทำงานและสถานที่สาธารณะปลอดบุหรี่ให้มากขึ้น จนไปถึงครัวเรือนทั่วประเทศให้ปลอดบุหรี่ในที่สุด ทั้งนี้ ในปี 2550 สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้สำรวจพบว่าประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งมีประมาณ 51.2 ล้านคน เป็นผู้ที่สูบบุหรี่เกือบ 11 ล้านคน แยกเป็นชาย 10 ล้านคนเศษ ที่เหลือเป็นหญิง โดยแนวโน้มการสูบบุหรี่ลดลงในรอบ 7 ปี จากร้อยละ 22.5 เหลือร้อยละ 18.5 อายุเฉลี่ยเริ่มสูบ 18 ปี กลุ่มวัยทำงาน อายุ 25-59 ปี มีอัตราการสูบบุหรี่สูงสุด ร้อยละ 21 สูบเฉลี่ยวันละ 11 มวน รองลงมาเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป สูบร้อยละ 17 เฉลี่ยวันละ 10 มวน ส่วนกลุ่มวัยรุ่น อายุ 15-24 ปี สูบร้อยละ 12 โดยจะเริ่มสูบเมื่ออายุเฉลี่ย 16.8 ปี สูบเฉลี่ยวันละ 8 มวน สาเหตุที่ทำให้สูบบุหรี่กว่าครึ่งมาจาก อยากทดลอง รองลงมาเกิดจากตามเพื่อนหรือเพื่อนชวน เพื่อเข้าสังคม/สังสรรค์ โดยมีร้อยละ 3 สูบเพื่อคลายความเครียด ตุลาคม ***************************** 29 ตุลาคม 2551


   
   


View 9    29/10/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ