รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข จัดงบประมาณ 150 ล้านบาท ให้กองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย สนับสนุนการทำวิจัยต่อยอดพัฒนาภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทย อาทิ สมุนไพรรางจืด ถอนพิษเบื่อ เมา เพื่อให้เป็นที่ยอมรับทางวิชาการ สร้างความเชื่อมั่นการใช้สมุนไพรไทย เพิ่มการพึ่งพาตนเองมากขึ้น และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในการพัฒนาภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทยให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้นนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือ ส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัยในเชิงวิชาการให้มากขึ้น เพื่อให้มีข้อมูลทางวิชาการรองรับตามหลักสากล ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นทั้งในส่วนของแพทย์ผู้ให้บริการ และประชาชนผู้รับบริการ นำไปสู่การประยุกต์ใช้ในการดูแลรักษาสุขภาพมากขึ้น ส่งเสริมให้เกิดการพึ่งพาตนเองของประชาชน ลดการนำเข้ายาแผนปัจจุบันจากต่างประเทศ รวมทั้งสามารถพัฒนาถึงระดับอุตสาหกรรมส่งออก ช่วยสร้างเศรษฐกิจของชาติได้
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2552 ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 150 ล้านบาท ให้กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สนับสนุนการศึกษาวิจัยเชิงวิชาการดังกล่าว ผ่านทางกองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย เพื่อสนับสนุนการศึกษาวิจัยต่อยอดภูมิปัญญาและสมุนไพร สนับสนุนการอนุรักษ์ คุ้มครองสมุนไพร ป้องปรามการละเมิดสิทธิภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย สนับสนุนการพัฒนายาไทย การเพาะปลูก/ผลิต/แปรรูปสมุนไพร
ทางด้านนายแพทย์นรา นาควัฒนานุกูล อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ที่ผ่านมาพบว่ามีงานวิจัยด้านการแพทย์แผนไทยจำนวนมากที่ควรมีการศึกษาวิจัยต่อยอด เช่น สมุนไพร รางจืด ซึ่งมีสรรพคุณตามตำราโบราณ ใช้เพื่อถอนพิษเมา เบื่อ แก้ไข้ ช่วยลดความร้อนในร่างกาย โดยนำใบรางจืดที่ไม่อ่อนไม่แก่เกินไป 10-20 ใบ โขลกให้แหลกผสมน้ำหรือน้ำซาวข้าว คั้นเอาแต่น้ำดื่ม หรือนำใบรางจืดมาหั่นฝอย ตากแดดหรือผึ่งลมให้แห้ง ใช้ชงน้ำร้อนดื่ม ซึ่งปัจจุบันนิยมนำมาเป็นเครื่องดื่มและชาชงกันมาก เพื่อให้ง่ายและสะดวกต่อการบริโภค ขณะนี้มีหลายหน่วยงานทำการศึกษาวิจัยในสัตว์ทดลองและในคน พบว่ารางจืดมีสารต้านพิษของสารกำจัดศัตรูพืชกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต และยาฆ่าหญ้าพาราควอต
นายแพทย์นรา กล่าวต่อว่า อีกประเด็นที่น่าสนใจคือการใช้รางจืดต้านพิษไข่แมงดาทะเล ซึ่งมีสารเตโตรโด ท็อกซิน (tetrodotoxin) ที่เป็นพิษต่อระบบประสาทเช่นเดียวกับปลาปักเป้า โดยเคยมีผู้ป่วยอาการโคม่าจากการกินไข่แมงดาทะเลที่จังหวัดชุมพร แต่รอดชีวิตเพราะโรงพยาบาลอนุญาตให้ใช้น้ำรางจืดกับผู้ป่วย นักวิชาการจึงเสนอให้มีการศึกษาวิจัยประสิทธิผลและกลไกการออกฤทธิ์ของรางจืด ในการต้านพิษของเตโตรโดท็อกซินในสัตว์ทดลองและในเซลล์เพาะเลี้ยงเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังมีสมุนไพรและภูมิปัญญาไทยที่น่าสนใจอีกหลายเรื่อง ซึ่งนักวิชาการที่สนใจ สามารถติดต่อขอรายละเอียดเพื่อขอรับการสนับสนุนทำวิจัยต่อยอดได้ที่ กองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย โทร. 0-2588-5743 ในวันและเวลาราชการ
******************************** 1 พฤศจิกายน 2551
View 9
01/11/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ