ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยปัญหาการเจ็บป่วยของประชาชนไทยขณะนี้ ร้อยละ 80 เป็นโรคที่ป้องกันได้ ที่พบมากอันดับ 1 ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ พบปีละกว่า 22 ล้านคน ในปีงบประมาณ 2550 นี้ มุ่งขยายบริการเชิงรุก ส่งหมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เข้าดูแลสุขภาพประชาชนทุกหลังคาเรือน สอดคล้องแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยตั้งเป้าสร้างความพึงพอใจประชาชนผู้ใช้บริการให้ได้ร้อยละ 85 บ่ายวันนี้ (9 พฤศจิกายน 2549) ที่ห้องสยามมกุฎราชกุมาร อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี ซอยศูนย์วิจัย กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เข้ารับเกียรติบัตรสมาชิกกิตติมศักดิ์และสวมชุดครุยวิทยฐานะ จากราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย ในพิธีมอบหนังสืออนุมัติ/วุฒิบัตร ให้แก่แพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว จำนวน 64 คน นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2550 ที่เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2549 จนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2550 กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดยุทธศาสตร์ โดยจัดระบบบริการให้ประชาชนที่เจ็บป่วยสามารถเข้าถึงอย่างมีคุณภาพมาตรฐาน ตั้งเป้าสร้างความพึงพอใจประชาชนสูงขึ้น ให้ได้ร้อยละ 85 เน้นการเสริมสร้างพฤติกรรมสุขภาพที่ดีของประชาชน โดยสนับสนุนให้ประชาชนอายุ 6 ปีขึ้นไป ทั้งเขตเมืองและตามหมู่บ้านต่างๆ ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วันๆ ละ 30นาที ให้ได้ร้อยละ 60 สร้างเขตปลอดบุหรี่ในร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มที่มีระบบปรับอากาศให้ได้ร้อยละ 95 พัฒนาระบบการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเข้าสู่ระบบบริการสาธารณสุขให้มากขึ้น ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ปัญหาการเจ็บป่วยของประชาชนไทยในปี 2547 พบว่าร้อยละ 80 เจ็บป่วยด้วยโรคที่ป้องกันได้ โดยพบผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจมากที่สุด 22 ล้านกว่าราย เช่น ไข้หวัด เฉลี่ยในประชาชนทุก 1,000 คน จะป่วยจากโรคนี้ 403 คน รองลงมาคือโรคในระบบย่อยอาหาร เช่น ปวดท้อง โรคกระเพาะอาหาร โรคอุจาระร่วง จำนวน 12 ล้านกว่าราย และป่วยจากโรคระบบกล้ามเนื้อ เช่น ปวดเมื่อย จำนวน 9 ล้านกว่าราย ซึ่งโรคดังกล่าวไม่จัดเป็นโรคร้ายแรงและสามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ ด้วยการดูแลสุขภาพและการได้รับความรู้ในการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องและเพียงพอ นายแพทย์ปราชญ์กล่าวต่อว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ขยายบริการเข้าสู่ชุมชน และครอบครัว เน้นบริการแบบใกล้บ้านใกล้ใจ มีแพทย์ประจำบ้าน พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ออกเยี่ยมถึงบ้านทั้งในเขตเมืองและตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อประเมินสุขภาพคนทุกกลุ่มอายุในแต่ละครอบครัว พร้อมให้คำแนะนำในการ ส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค โดยเฉพาะโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น ธาลัสซีเมีย การบำบัด รักษาและพักฟื้นในชุมชน โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยอัมพาต อัมพฤกษ์ คนพิการ ที่พักฟื้นที่บ้าน ให้ได้รับการดูแลทั่วถึง ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล เป็นการจัดระบบสุขภาพพอเพียง สอดคล้องตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้บรรจุไว้ในแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ในพ.ศ.2550-2554 ที่จะเน้นการสร้างรากฐานที่เข้มแข็งของครอบครัว ชุมชน จากการมีความพอเพียงทางด้านสุขภาพ ช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพกายและจิตดีขึ้น ลดปัญหาการเจ็บป่วยให้น้อยลง ................................ 9 พฤศจิกายน 2549


   
   


View 8    09/11/2549   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ