ปลัด สธ. ติดตามการดูแลรักษา “พระ-ผู้แสวงบุญ” ในดินแดนพุทธภูมิ จัดส่งทีมแพทย์ 6 รุ่น รวม 60 คน
- สำนักสารนิเทศ
- 13 View
- อ่านต่อ
สบช. เปิดเวทีประชุมวิชาการนานาชาติ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้การจัดการศึกษาสำหรับบุคลากรสุขภาพ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ GHPEC 2023 จัดโดยสถาบันพระบรมราชชนก ให้นักวิชาการด้านการศึกษาได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และนวัตกรรมการจัดการศึกษา เพื่อจัดการศึกษาสำหรับบุคลากรสุขภาพที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและบริบทด้านสุขภาพของประเทศ
วันนี้ (1 พฤศจิกายน 2566) ที่ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติการศึกษาสำหรับบุคลากรสุขภาพ (Global Health Professional Education Conference: GHPEC 2023) จัดโดย สถาบันพระบรมราชชนก โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.นายแพทย์วิชัย เทียนถาวร อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพในศตวรรษที่ 21 วิทยากรและบุคลากรสุขภาพสาขาวิชาชีพต่าง ๆ ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เข้าร่วมงานประมาณ 300 คน
นายสันติ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ก้าวทันเทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านสุขภาพ สามารถให้การดูแลสุขภาพประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังกำหนดให้การแพทย์ปฐมภูมิ เป็น 1 ในนโยบายการดำเนินงานที่สำคัญ เพื่อยกระดับระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการที่สะดวกรวดเร็วและใกล้บ้าน ซึ่งการจัดประชุมวิชาการนานาชาติ เป็นกลไกสำคัญหนึ่งที่จะทำให้บุคลากรได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางในการพัฒนางาน รวมถึงรับทราบองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่สามารถนำมาปรับใช้ในการจัดการศึกษาของบุคลากรสุขภาพให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและบริบทด้านสุขภาพของประเทศ
ด้านศาสตราจารย์พิเศษ ดร.นายแพทย์วิชัย กล่าวว่า สถาบันพระบรมราชชนกมุ่งมั่นพัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรสุขภาพ เพื่อรองรับระบบสุขภาพของประเทศ การประชุมวิชาการครั้งนี้จึงกำหนดหัวข้อที่สอดรับกับนโยบายกระทรวงสาธารณสุข คือ “การสร้างความเข้มแข็งบุคลากรสุขภาพในระบบสุขภาพปฐมภูมิเพื่อรองรับสถานการณ์โรคระบาดในอนาคต” โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-2 พฤศจิกายน 2566 มีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย วิทยากร ผู้บริหาร อาจารย์ บุคลากร ภาคีเครือข่าย และนักศึกษาสาขาวิชาชีพต่าง ๆ ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ อาทิ สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย กัมพูชา อินเดีย มัลดีฟส์ และบรูไน มีกิจกรรม อาทิ การบรรยาย การเสวนา การนำเสนอผลงานศึกษาวิจัย นวัตกรรม เกี่ยวกับระบบสุขภาพปฐมภูมิ ทั้งในรูปแบบวาจาและโปสเตอร์ รวมกว่า 49 เรื่อง
*********************************************1พฤศจิกายน 2566