กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับ บริษัท เอไซ (ประเทศไทย) มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เพื่อพัฒนาการเข้าถึงการวินิจฉัย การรักษาและการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุ ผู้ป่วยภาวะปริชานบกพร่อง ภาวะสมองเสื่อม และโรคอัลไซเมอร์ในประเทศไทย

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ภาวะปริชานบกพร่อง ภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ ("AD”) ถือเป็นภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากสำหรับผู้ป่วยและครอบครัวของผู้ป่วยในประเทศไทย สืบเนื่องจากค่ารักษาพยาบาลที่สูงและความจำเป็นที่จะต้องมีการดูแลระยะยาว ผลกระทบของภาวะปริชานบกพร่อง ภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ จะมีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากจำนวนประชากรผู้สูงอายุของประเทศไทยที่มีอัตราการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจากความมุ่งมั่นในการค้นคว้าวิจัย ด้านการวินิจฉัย การรักษามาเป็นระยะเวลายาวนานของ บริษัทเอไซฯ แสดงให้เห็นถึงความท้าทาย 3 ประการหลัก ในการเข้าถึงการรักษาภาวะปริชานบกพร่อง ภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ในประเทศไทย ดังต่อไปนี้

1. การตระหนักรู้เกี่ยวกับโรค: การตระหนักรู้ถึงอาการ สัญญาณเตือน และความสำคัญของการตรวจวินิจฉัยและการรักษาอย่างทันท่วงที รวมถึงแนวทางการป้องกันสำหรับภาวะปริชานบกพร่อง ภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์นั้นไม่เพียงพอ

2. โครงสร้างพื้นฐานการวินิจฉัยและการเข้าถึงบริการ: ในปัจจุบันยังไม่มีการแนะนำเครื่องมือคัดกรองภาวะปริชานบกพร่อง ภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ในประเทศไทย รวมถึงการเข้าถึงระบบการวินิจฉัยระดับสูงที่ค่อนข้างจำกัด

3. การเข้าถึงการดูแลโดยรวม: การสนับสนุนด้านการเข้าถึงการรักษาและด้านค่ารักษา รวมถึงการสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยภาวะปริชานบกพร่อง ภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์และผู้ดูแลที่ค่อนข้างจำกัด

ท่ามกลางความท้าทายเหล่านี้ เอไซฯ และกรมการแพทย์จึงได้ตระหนักถึงความสำคัญด้านนโยบายและแผนการสนับสนุนแห่งชาติเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่แข็งแกร่งสำหรับผู้ป่วยและครอบครัว

ด้าน นายคานาซาว่า โชเฮ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทเอไซฯ ประจำภูมิภาคเอเชียและลาตินอเมริกา กล่าวว่า บริษัท เอไซ (ประเทศไทย) มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้นำและผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับการรักษาโรคอัลไซเมอร์ นำโดยเภสัชกรณัฐพันธุ์ นิมมานพัชรินทร์ กรรมการผู้จัดการ ร่วมมือกับ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงการ "การศึกษาความเป็นไปได้" (Feasibility Study) สำหรับโรคสมองเสื่อม หวังผลต่อยอดสู่การสร้างนโยบายแห่งชาติในการดูแลผู้ป่วยภาวะปริชานบกพร่อง ภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ของประเทศไทย โดยโครงการนี้มุ่งเน้นและมุ่งมั่นที่จะเพิ่มการตระหนักรู้ การเข้าถึงการวินิจฉัย การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการพยาบาลที่เอื้อต่อผู้ป่วยในการเข้าสู่การรักษา การดูแลผู้ป่วยในระยะยาว รวมถึงแผนการสนับสนุน ตลอดเส้นทางการใช้ชีวิตของผู้ป่วยและผู้สูงวัย มากไปกว่านั้นจากความร่วมมือกันในการจัดทำ "การศึกษาความเป็นไปได้" (Feasibility Study) ของโครงการสำหรับโรคสมองเสื่อมนี้ ผลลัพธ์ของการศึกษาจะถูกนำเสนอผ่านการจัดทำกิจกรรมการรับฟังประชาพิจารณ์ต่อสาธารณะ (Public Hearing Event) โดยทั้งสององค์กร จะร่วมมือผลักดันด้านนโยบายและแผนสนับสนุนระดับชาติที่เป็นไปได้ เพื่อผู้ป่วยภาวะปริชานบกพร่อง ภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ในระยะยาวต่อไป

การลงนามในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนลงนามจาก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นำโดย แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์  และนายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา  และบริษัท เอไซ (ประเทศไทย) มาร์เก็ตติ้ง จำกัด นำโดย นายคานาซาว่า โชเฮ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทเอไซฯ ประจำภูมิภาคเอเชียและลาตินอเมริกา และ เภสัชกรณัฐพันธุ์ นิมมานพัชรินทร์ กรรมการผู้จัดการ

***************

29 พฤศจิกายน 2566



   


View 232    29/11/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ