กระทรวงสาธารณสุข ทุ่มงบกว่า 100,000 ล้านบาท ลงทุนพัฒนาด้านสุขภาพ เพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพในทศวรรษที่ 10 ของการสาธารณสุขไทย เริ่มตั้งแต่ปี 2552-2555 เฉพาะปี 2552 ของบกลางปีเพิ่มอีกกว่า 5,000 ล้านบาท พัฒนา 6 โครงการใหญ่ อาทิ เพิ่มหน่วยไตเทียมกว่า 800 เครื่อง เครื่องช่วยหายใจ พัฒนามาตรฐานห้องสุขาในร.พ.เพิ่มอุปกรณ์ออกกำลังกาย หวังให้คนไทยมีสุขภาพดี ได้รับบริการอย่างมีคุณภาพถ้วนหน้า เช้าวันนี้(27 พฤศจิกายน 2551) ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และผู้แทนหน่วยงาน/สมาคม/องค์กรต่างๆ ทำพิธีวางพานพุ่มถวายสักการะพระอนุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้ทรงวางรากฐานการสาธารณสุขไทยให้เจริญก้าวหน้า ที่บริเวณอนุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร กระทรวงสาธารณสุข เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงสาธารณสุขซึ่งตรงกับวันที่ 27 พฤศจิกายนทุกปี ซึ่งในปีนี้ครบรอบปีที่ 90 ของการสาธารณสุขไทย โดยทำพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเป็นข้าราชการที่ดีและพลังของแผ่นดิน และเปิดนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร จากนั้นได้ประกอบพิธีสงฆ์ อุทิศส่วนกุศลให้อดีตข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขที่ล่วงลับไปแล้ว ร.ต.อ.ดร.เฉลิม กล่าวว่า ในปี 2551 เป็นปีครบรอบ 90 ปีของการสาธารณสุขไทย หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศตั้งกรมสาธารณสุขขึ้น เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2461 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร เป็นอธิบดีกรมสาธารณสุข ต่อมาได้ยกฐานะเป็นกระทรวงการสาธารณสุขตั้งแต่ 10 มีนาคม พ.ศ.2485 และเปลี่ยนเป็นกระทรวงสาธารณสุขนั้น การสาธารณสุขไทยได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง มีความสำเร็จหลายด้าน เช่น การควบคุมป้องกันโรคติดต่อ อาทิ โปลิโอ โรคไข้หวัดนก การอนามัยแม่และเด็ก อยู่ระดับแนวหน้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการพัฒนาระบบริการสาธารณสุขในทศวรรษที่ 10 นั้น กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำโครงการยกเครื่องบริการครั้งใหญ่ 2 โครงการ เพื่อเพิ่มคุณภาพบริการทั้งในเรื่องบริการรักษา เครื่องมือ เทคโนโลยีทางการแพทย์ บุคลากร เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ชาวไทยทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้ระบบบริการทุกระดับให้มีคุณภาพมาตรฐานและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพ ที่มีแนวโน้มเป็นโรคเรื้อรังและผู้สูงอายุมากขึ้น ขณะนี้มีเด็กเกิดใหม่เพิ่มปีละประมาณ 800,000 คน เสียชีวิตปีละประมาณ 3 แสนคน ทั้งหมดล้วนต้องให้การดูแลรักษาตั้งแต่เกิดจนตายทั้งสิ้น ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขขาดการพัฒนาทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ สถานที่และคุณภาพการให้บริการมานานกว่า 10 ปี ไม่สามารถรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้ ร.ต.อ.ดร.เฉลิมกล่าวต่อไปว่า การพัฒนาโครงการแรก ได้แก่ โครงการเมกกะโปรเจก (Mega Project) พัฒนาระบบบริการสุขภาพที่กระจายอยู่ทั่วประเทศให้มีคุณภาพและปริมาณเพียงพอ เป็นเวลา 4 ปี ตั้งแต่พ.ศ.2552-2555 จำนวน 10 โครงการ วงเงิน 105,494 ล้านบาท ได้แก่1. พัฒนาสถานีอนามัยระดับต่างๆเป็นศูนย์แพทย์ชุมชนมีแพทย์พยาบาลประจำ 1,000 แห่ง วงเงิน 6,159 ล้านบาท 2.พัฒนาโรงพยาบาลชุมชนเป็นศูนย์กลางบริการสุขภาพในระดับอำเภอ 154 แห่ง วงเงิน 9,799 ล้านบาท 3.พัฒนาคุณภาพบริการในโรงพยาบาลทั่วประเทศ 116 แห่งวงเงิน 23,529 ล้านบาท 4. พัฒนาศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง163 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์หัวใจ 69 แห่ง ศูนย์มะเร็ง 34 แห่ง และศูนย์อุบัติเหตุ 60 แห่ง วงเงิน 19,425 ล้านบาท 5. ตั้งศูนย์ความเป็นเลิศสถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทยและโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยหรืออาโรคยาศาล 1 แห่งวงเงิน 707 ล้านบาท 6. พัฒนาศูนย์ประสานงานการส่งต่อผู้ป่วย 19 แห่งวงเงิน1,812 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ประชาชนทุกพื้นที่ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงเท่าเทียม 7. สนับสนุนการปฏิบัติงาน/สร้างที่พักบุคลากร 1,300 หน่วยวงเงิน 19,160 ล้านบาท 8. จัดตั้งศูนย์บริการสุขภาพผู้สูงอายุในสถานบริการทุกระดับทั่วประเทศ วงเงิน 9,199 ล้านบาท 9. ผลิตแพทย์ พยาบาลวิชาชีพและอื่นๆ เพิ่ม รวม 24,478 คน และพัฒนาศักยภาพบุคลากร จำนวน 25,366 คน วงเงิน 13,155 ล้านบาท และ10. พัฒนาระบบข้อมูลการบริการสุขภาพทั่วประเทศ 1 ระบบวงเงิน 2,713 ล้านบาท ทางด้านนายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ข่าวดีโครงการที่ 2 ในปี 2552 กระทรวงสาธารณสุขได้ของบกลางปีเพิ่มจากงบปกติอีกประมาณ 5,700 ล้านบาท พัฒนาสถานบริการและงานด้านสาธารณสุข 6 โครงการ ได้แก่ 1. เพิ่มหน่วยไตเทียมในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ 856 เครื่อง วงเงิน 840 ล้านบาทเศษ ซึ่งเครื่องไตเทียมขณะนี้มีเพียง 1,400 เครื่อง ไม่เพียงพอกับผู้ป่วยโรคไตวายที่มีกว่า 90,000 ราย และพัฒนาศักยภาพ อสม. ในการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังในชุมชนวงเงิน 2,898 ล้านบาทเศษ 2. โครงการพัฒนามาตรฐานห้องสุขาผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ในสถานบริการสาธารณสุขวงเงิน 71 ล้านบาทเศษ 3. โครงการจัดตั้งศูนย์กายภาพบำบัดและการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพในโรงพยาบาลและสถานีอนามัย วงเงิน 1,179 ล้านบาทเศษ 4. โครงการพัฒนาศาสนสถานและโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อส่งเสริมสุขภาพวงเงินเกือบ 40 ล้านบาท 5. โครงการจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจ และระบบออกซิเจนดูแลผู้ป่วยในภาวะวิกฤติฉุกเฉินให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ วงเงิน 641 ล้านบาทเศษ และพัฒนาโครงการทีวีสุขภาพเพื่อประชาชน กระทรวงสาธารณสุข วงเงิน 120 ล้านบาท นายวิชาญกล่าว ******************************** 27 พฤศจิกายน 2551


   
   


View 9    27/11/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ