กระทรวงสาธารณสุข จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทานในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ออกบริการผู้ประสบภัยน้ำท่วมในภาคใต้ทุกวัน ในรอบ 20 วัน พบเจ็บป่วยกว่า 15,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรคน้ำกัดเท้า และพบผู้มีอาการเครียด นอนไม่หลับ กว่า 1,000 ราย ส่งทีมสุขภาพจิตจากโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ร่วมดูแลทางจิตใจ และจัดส่งยาตำราหลวงสนับสนุนแล้ว 50,000 ชุด
ร.ต.อ. ดร.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สงขลา ยะลา และนราธิวาส ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลต่างๆ ในจังหวัดที่ประสบภัย จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทาน ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งประกอบด้วยแพทย์ตรวจรักษาโรคทั่วไป และจิตแพทย์เพื่อให้การดูแลด้านจิตใจ ออกให้บริการประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมฟรี ทุกวัน จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ผลการให้บริการตั้งแต่วันที่ 9 - 28 พฤศจิกายน 2551 ออกให้บริการจำนวน 107 ครั้ง พบผู้เจ็บป่วยกว่า 15,000 ราย โรคที่พบมากที่สุดประมาณร้อยละ 40 คือโรคน้ำกัดเท้าและผื่นคัน รองลงมาได้แก่ไข้หวัด ในจำนวนนี้พบมีอาการเครียดและนอนไม่หลับจำนวน 1,129 รายหรือประมาณร้อยละ 12 ของผู้มารับบริการ แต่อาการไม่รุนแรงถึงขั้นต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล ส่วนที่เหลือมีบาดแผลที่เท้าจากถูกของมีคมบาด จำนวน 581 ราย
ด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในภาคใต้ กระทรวงสาธารณสุขได้สนับสนุนงบประมาณแล้ว 5 ล้านกว่าบาท และจัดส่งยาชุดตำราหลวงให้หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ นำไปแจกจ่ายผู้ประสบภัยเพื่อใช้ดูแลสุขภาพเบื้องต้น 50,000 ชุด และยารักษาโรคน้ำกัดเท้า 15,000 หลอด นอกจากนี้ ให้เฝ้าระวังป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาด โดยเฉพาะโรคอุจจาระร่วง โรคตาแดง ซึ่งมีความเสี่ยงในการเกิดโรคสูง เนื่องจากขาดแคลนน้ำสะอาด ขณะนี้มีรายงานเฉพาะโรคอุจจาจะร่วงเกิดประปราย เจ้าหน้าที่ได้ทำการควบคุมได้ทั้งหมด ไม่มีการระบาดเพิ่ม
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มน้ำอาจท่วมขังติดต่อกันเป็นเวลานาน ในการป้องกันไม่ให้ป่วยจากโรคที่มากับน้ำท่วม ขอให้ผู้ประสบภัยหลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าย่ำลุยน้ำ เพื่อป้องกันโรคน้ำกัดเท้าและเกิดบาดแผลจากเหยียบถูกวัตถุมีคมที่จมอยู่ในน้ำ รีบล้างเท้าให้สะอาดและเช็ดให้แห้ง โดยเฉพาะผู้ที่มีบาดแผลที่เท้าควรใส่รองเท้าบู้ทป้องกันน้ำเข้าแผล เพราะในน้ำท่วมมีเชื้อโรคและสิ่งปนเปื้อนจำนวนมาก และต้องทำแผลที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่หรือที่สถานพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้านทุกวัน รวมทั้งให้ดื่มน้ำต้มสุกหรือน้ำดื่มบรรจุขวดที่มีเครื่องหมาย อ.ย. ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดหลังจากขับถ่าย และก่อนรับประทานอาหาร รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน ซึ่งความร้อนจะฆ่าทำลายเชื้อโรคที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหาร ป้องกันโรคอุจจาระร่วงได้
************************************ 29 พฤศจิกายน 2551
View 10
29/11/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ